โรม 4:1-8

ความชอบธรรม: ตัวอย่างของอับราฮัมและดาวิด

หลังจากที่อาจารย์เปาโลได้อธิบายให้เราได้เข้าใจถึง "ความชอบธรรม ซึ่งได้มาโดยปราศจากธรรมบัญญัติ หรือการเชื่อฟังธรรมบัญญัติ แต่ผ่านทางความเชื่อ" แล้ว อาจารย์เปาโลท่านก็ได้ยกตัวอย่างบุคคลในสมัยพระคัมภีร์เดิม 2 ท่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในพวกยิว และชาวยิวทุกคนก็ยอมรับและยกย่องอย่างสูง แต่อาจารย์เปาโลได้ให้มุมมองว่า แท้จริงแล้ว ท่านทั้งสองก็ทราบดีว่า พระเจ้าทรงยอมรับท่านทั้งสอง มิใช่เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นคนดีพร้อม แต่เป็นเพราะท่านทั้งสองมีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือ "ความเชื่อ" และเพราะความเชื่อที่เอง ที่ทำให้ท่านทั้งสองได้รับการยอมรับจากพระเจ้า


"1 ถ้าเช่นนั้น เราจะว่าอะไรเรื่องอับราฮัม บรรพบุรุษของเราตามสายโลหิต

2 ถ้าอับราฮัมเป็นผู้ชอบธรรมโดยการประพฤติ ท่านก็มีทางที่จะอวดได้ แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้าท่านไม่มีทางอย่างนั้น

3 พระคัมภีร์ว่าอย่างไร ก็ว่า อับราฮัมเชื่อในพระเจ้าและเพราะความเชื่อนั้นเอง พระเจ้าทรงถือว่าท่านเป็นคนชอบธรรม

4 ฝ่ายคนที่ทำงานก็ไม่ถือว่าค่าจ้างที่ได้นั้นเป็นบำเหน็จ แต่ถือว่าเป็นค่าแรงของงานที่ได้ทำ

5 ส่วนคนที่มิได้อาศัยการประพฤติ แต่ได้เชื่อในพระองค์ผู้ทรงโปรดให้คนผิดเป็นคนชอบธรรมได้ เพราะความเชื่อของคนนั้น พระเจ้าทรงถือว่าเป็นความชอบธรรม

6 ดังที่ดาวิดได้กล่าวถึงความสุขของคนที่พระเจ้าได้ทรงโปรดให้เป็นคนชอบธรรม โดยมิได้อาศัยการประพฤติ

7 ว่า 'คนทั้งหลายซึ่งพระเจ้าทรงโปรดยกการอธรรมของเขาแล้ว และพระเจ้าทรงกลบเกลื่อนบาปของเขาแล้ว ก็เป็นสุข

8 บุคคลที่องค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงถือโทษก็เป็นสุข' " (โรม 4:1-8)


จากพระคัมภีร์ตอนนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ตอนใหญ่ ๆ ได้แก่ ตอนที่กล่าวถึงอับราฮัม (ข้อ 1-3) รวมถึงคำอธิบายเพิ่มเติม (ข้อ 4-5) และตอนที่กล่าวถึงดาวิด (ข้อ 6-8)


ตัวอย่างของท่านอับราฮัม

"1 ถ้าเช่นนั้น เราจะว่าอะไรเรื่องอับราฮัม บรรพบุรุษของเราตามสายโลหิต

2 ถ้าอับราฮัมเป็นผู้ชอบธรรมโดยการประพฤติ ท่านก็มีทางที่จะอวดได้ แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้าท่านไม่มีทางอย่างนั้น

3 พระคัมภีร์ว่าอย่างไร ก็ว่า อับราฮัมเชื่อในพระเจ้าและเพราะความเชื่อนั้นเอง พระเจ้าทรงถือว่าท่านเป็นคนชอบธรรม

4 ฝ่ายคนที่ทำงานก็ไม่ถือว่าค่าจ้างที่ได้นั้นเป็นบำเหน็จ แต่ถือว่าเป็นค่าแรงของงานที่ได้ทำ

5 ส่วนคนที่มิได้อาศัยการประพฤติ แต่ได้เชื่อในพระองค์ผู้ทรงโปรดให้คนผิดเป็นคนชอบธรรมได้ เพราะความเชื่อของคนนั้น พระเจ้าทรงถือว่าเป็นความชอบธรรม" (โรม 4:1-5)

ขอบคุณพระเจ้า ที่ทรงประทานความเข้าใจให้กับอาจารย์เปาโลอยากมากมาย ท่านมีสติปัญญาในการอธิบาย และเป็นการลึกซึ้งมากที่ท่านได้ยกตัวอย่างถึงบุคคลผู้ซึ่งชาวอิสราเอลทุกคนให้ความเคารพยกย่องอย่างมากทีเดียว

อับราฮัม เป็นบุคคลผู้ซึ่งได้รับการเรียกว่า เป็นบิดาของชาวอิสราเอล และชาวอิสราเอลก็ภูมิใจมากทีเดียว ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากอับราฮัม โดยจะเห็นได้จากคำที่พวกยิวได้กล่าวกับพระเยซูคริสต์ว่า

"เขาทั้งหลายทูลตอบพระองค์ว่า 'เราสืบเชื้อสายมาจากอับราฮัม และไม่เคยเป็นทาสใครเลย เหตุไฉนท่านจึงกล่าวว่า 'ท่านทั้งหลายจะเป็นไท' ' " (ยอห์น 8:33)

อับราฮัมเป็นบุคคลที่มีบทบาทมากทีเดียวในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม และหลายครั้งที่เราจะได้พบการกล่าวถึงพระยาเวห์ว่า "พระเจ้าของอับราฮัม"

"พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสอีกว่า 'เจ้าจงกล่าวแก่ประชากรอิสราเอลว่าดังนี้ พระเยโฮวาห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของท่าน คือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ทรงใช้ให้ข้าพเจ้ามาหาท่าน นี่แหละเป็นนามของเราตลอดไปเป็นนิตย์ นี่แหละเป็นอนุสรณ์ของเราตลอดทุกชั่วชาติพันธุ์' " (อพยพ 3:15)

นอกจากนี้แล้ว ชาวยิวก็ได้ยกย่องอับราฮัมอย่างสูง ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกที่จะอวยพร และท่านเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแรงกล้าและเชื่อฟังจนถึงที่สุดแม้ในการทดสอบที่หนักหน่วง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจารย์เปาโลได้ตัดสินใจที่จะยกตัวอย่างจากชีวิตของท่านอับราฮัม

ชาวยิวส่วนใหญ่แล้ว จะเข้าใจว่าท่านอับราฮัมได้รับพระสัญญา เพราะว่าท่านเชื่อฟังพระเจ้าจนถึงที่สุด ซึ่งชาวยิวมักจะยึดพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า

"4 เราจะทวีเชื้อสายของเจ้าให้มากขึ้นดังดาวบนฟ้า และจะให้ดินแดนเหล่านี้ทั้งหมดแก่เชื้อสายของเจ้า ประชาชาติทั้งหลายในโลกจะได้รับพรก็เพราะเชื้อสายของเจ้า

5 เพราะว่าอับราฮัมได้ฟังเสียงเรา และได้รักษาคำกำชับของเรา บัญญัติของเรา กฎเกณฑ์ของเรา และพระธรรมของเรา" (ปฐมกาล 26:4-5)

ในความคิดของชาวยิว เมื่อจะยกตัวอย่างถึงการถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมโดยผ่านทางการเชื่อฟังหรือทางการประพฤติแล้ว เขาจะคิดถึงอับราฮัมเป็นคนแรก

แต่เมื่อเราพิจารณาจากพระคัมภีร์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า พระเจ้าทรงประทานพระสัญญาแก่อับราฮัม ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะได้ผ่านการทดสอบ ก่อนที่ท่านจะได้ทำสิ่งใดที่เป็นการแสดงว่าท่านเชื่อฟังพระเจ้าเสียอีก โดยพระองค์ทรงประทานพระสัญญาแก่ท่านตั้งแต่ตอนที่เรียกให้ท่านเดินทางออกจากเมืองของตน ดังนั้น แสดงว่า พระเจ้าทรงยอมรับท่านและอวยพรท่าน ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะกระทำสิ่งใดเพื่อพระเจ้าเสียอีก

"1 พระเจ้าตรัสแก่อับรามว่า "เจ้าจงออกจากเมือง จากญาติพี่น้อง จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดนที่เราจะบอกให้เจ้ารู้

2 เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โตเลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร

3 เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า" (ปฐมกาล 12:1-3)

และสิ่งที่เห็นได้ชัดในชีวิตของอับราฮัมก็คือ ความเชื่อ พระเจ้าทรงประทานพระสัญญาแก่เขา และเขาก็เพียงแค่เชื่อวางใจในพระเจ้าว่าพระองค์จะทรงกระทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ และความเชื่อเช่นนี้แหละที่พระเจ้าทรงยอมรับท่านว่าเป็นผู้ชอบธรรม เพียงแค่เชื่อเท่านั้น

ในพระคัมภีร์โรมตอนนี้ อาจารย์เปาโลได้กล่าวถ้อยคำด้วยสติปัญญาอย่างมาก โดยท่านได้โต้แย้งความคิดของชาวยิวแบบตรงกันข้ามทีเดียว โดยท่านได้ให้ข้อโต้แย้งทั้งด้วยเหตุผล และด้วยข้อพระคัมภีร์ยืนยัน

ข้อโต้แย้งด้วยเหตุผล

"ถ้าอับราฮัมเป็นผู้ชอบธรรมโดยการประพฤติ ท่านก็มีทางที่จะอวดได้ แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้าท่านไม่มีทางอย่างนั้น" (โรม 4:2)

จากพระคัมภีร์ข้อนี้ ดูเหมือนว่า อาจารย์เปาโลต้องการที่จะกล่าวอ้างถึงข้อที่ท่านเพิ่งได้กล่าวในบทที่แล้ว

"เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะเอาอะไรมาอวดก็หมดหนทาง จะอ้างหลักอะไรว่าหมดหนทาง อ้างหลักการประพฤติตามธรรมบัญญัติหรือ ไม่ใช่ แต่ต้องอ้างหลักของความเชื่อ" (โรม 3:27)

ซึ่งถ้าดูอย่างผิวเผิน อาจจะดูเหมือนว่าขัดแย้งกัน แต่แท้จริงแล้ว อาจารย์เปาโลต้องการให้เราเข้าใจว่า แม้ว่าในสายตามนุษย์ เราจะสามารถอวดอ้างตนได้ แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะอวดอ้างต่อพระพักตร์ของพระเจ้าได้ เพราะพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง ทรงทราบจิตใจเรา ทรงทราบสิ่งที่เราทำแม้ขณะที่ไม่มีใครเห็น เราอาจจะให้ผู้อื่นชื่นชมได้ แต่ในสายพระเนตรพระเจ้าเราไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การประพฤติจึงไม่สามารถที่จะทำให้เราสามารถได้รับการยอมรับจากพระเจ้าได้

ข้อสรุปของพระคัมภีร์ตอนนี้ แท้จริงแล้วอาจารย์เปาโลไม่ได้ต้องการกล่าวว่า อับราฮัมสามารถอวดต่อมนุษย์ได้ เพราะถ้าหากท่านชอบธรรมโดยการประพฤติแล้ว ท่านก็คงจะอวดมนุษย์ได้ แต่แท้จริงแล้ว อับราฮัมชอบธรรมด้วยความเชื่อเท่านั้น ท่านจึงไม่สามารถอวดทั้งต่อมนุษย์และต่อพระเจ้าได้เลย

ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเราได้พิจารณาชีวิตของท่านอับราฮัม เราจะพบว่า แม้ว่าชีวิตของท่านจะเชื่อฟังตลอด แต่ในชีวิตของท่านได้ทำผิดพลาดหลายครั้ง ถึงขนาดที่ว่า ท่านยอมที่จะให้ภรรยาเสี่ยงที่จะต้องเสียเกียรติ ด้วยการที่ท่านบอกกับเจ้าเมืองอียิปต์ว่า นางซาราห์ไม่ใช่ภรรยา แต่เป็นน้องสาว (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถูก แต่ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น) เพียงเพื่อที่ท่านจะปลอดภัยและได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งไม่ใช่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ท่านยังทำเช่นนี้อีกเมื่อท่านอาศัยอยู่ที่เก-ราห์ นอกจากนี้แล้ว ท่านยังเคยที่ไม่เชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าที่พระองค์จะทรงประทานเชื้อสายแก่ท่านผ่านทางนางซาราห์ ท่านจึงยอมทำตามที่นางซาราห์แนะนำคือ ไปร่วมหลับนอนกับสาวใช้ คือนางฮาการ์ และนอกจากนางฮาการ์แล้ว ท่านก็ยังมีภรรยาอีกหลายคนทีเดียว

ดังนั้น ถ้าหากจะกล่าวว่าอับราฮัมชอบธรรมด้วยการประพฤติของท่านแล้ว ก็คงจะไม่สมเหตุผลเท่าไรนัก แต่ขอบคุณพระเจ้า โดยพระคุณของพระเจ้าผ่านทางความเชื่อของอับราฮัม แม้ว่าอับราฮัมจะผิดพลาดหลายหน แต่พระเจ้าก็ทรงอภัย และก็ยังทรงยอมรับท่านเสมอ

ข้อโต้แย้งด้วยพระคัมภีร์

"พระคัมภีร์ว่าอย่างไร ก็ว่า อับราฮัมเชื่อในพระเจ้าและเพราะความเชื่อนั้นเอง พระเจ้าทรงถือว่าท่านเป็นคนชอบธรรม" (โรม 4:3)

ซึ่งพระคัมภีร์ตอนนี้ อาจารย์เปาโลได้ยกมาจากพระธรรมปฐมกาล

"อับรามก็เชื่อพระเจ้า ความเชื่อนั้นพระองค์ทรงนับว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน" (ปฐมกาล 15:6)

พระคัมภีร์ที่อาจารย์เปาโลอ้างถึงนี้ ได้ยืนยันสิ่งที่ท่านได้พูดถึงอย่างชัดเจนทีเดียว ว่าอับราฮัมได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ชอบธรรมโดยผ่านทางความเชื่อของท่านนั่นเอง

หลังจากที่ได้กล่าวข้อโต้แย้งเหล่านี้แล้ว อาจารย์เปาโลได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักข้อเชื่อเรื่องความชอบธรรมโดยความเชื่อ

4 ฝ่ายคนที่ทำงานก็ไม่ถือว่าค่าจ้างที่ได้นั้นเป็นบำเหน็จ แต่ถือว่าเป็นค่าแรงของงานที่ได้ทำ

5 ส่วนคนที่มิได้อาศัยการประพฤติ แต่ได้เชื่อในพระองค์ผู้ทรงโปรดให้คนผิดเป็นคนชอบธรรมได้ เพราะความเชื่อของคนนั้น พระเจ้าทรงถือว่าเป็นความชอบธรรม (โรม 4:4-5)

ในพระธรรมตอนนี้ อาจารย์เปาโลได้เสนอทางเลือกให้แก่เราสองทาง ได้แก่ คนที่อาศัยการประพฤติ การทำงาน เพื่อที่จะได้ค่าจ้างเป็นค่าแรงตามที่เขาได้ออกแรงไป กับ คนที่อาศัยความเชื่อ เพื่อที่จะได้รับพระคุณของพระองค์ ได้เป็นผู้ชอบธรรมแบบฟรี ๆ เพราะพระคริสต์ทรงไถ่เขาไว้แล้ว

"แต่พระเจ้าทรงพระกรุณาให้เขาเป็นผู้ชอบธรรม โดยไม่คิดมูลค่า โดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว" (โรม 3:24)

ถ้าหากว่าความชอบธรรมเราได้มาโดยการประพฤติแล้ว ก็เท่ากับว่าพระเจ้าให้ความชอบธรรมแก่เรา เป็นค่าจ้างให้แก่เรา แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะการที่เราได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ชอบธรรมนั้น เป็นผลจากพระคุณของพระเจ้า เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้โดยไม่คิดมูลค่า

แท้ที่จริงแล้ว อับราฮัมก็ถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมได้ก็โดยพระคุณของพระเจ้า เพราะความเชื่อของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเองก็ไม่สมควรจะได้รับ การถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมของอับราฮัมเกิดจากความเชื่อของท่านเท่านั้น

ตัวอย่างของกษัตริย์ดาวิด

บุคคลท่านต่อมาที่อาจารย์เปาโลได้ยกตัวอย่างขึ้นมาก็คือ กษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ชาวยิวยกย่องเป็นอย่างมาก และเป็นคนที่ได้รับการนับถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ชอบธรรม เป็นกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงพอพระทัย เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ตามชอบพระทัยของพระองค์ และกษัตริย์ดาวิดเอง ก็เป็นผู้ที่เขียนพระคัมภีร์ตอนที่อาจารย์เปาโลกล่าวอ้างถึง

"1 บุคคลผู้ซึ่งได้รับอภัยการละเมิดแล้วก็เป็นสุข คือผู้ทรงกลบเกลื่อนบาปให้นั้น

2 บุคคลซึ่งพระเจ้ามิได้ทรงถือโทษก็เป็นสุข คือผู้ที่ไม่มีการหลอกลวงในใจของเขา" (สดุดี 32:1-2)

ตามบริบทแล้ว สดุดี 32 นี้ เป็นตอนที่กษัตริย์ดาวิดเขียนหลังจากที่ท่านได้ทำบาปผิดครั้งใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องนางบัทเชบา และท่านก็ตระหนักดีว่า ท่านไม่สามารถที่จะทำสิ่งใดเพื่อชดใช้สิ่งที่ท่านทำได้เลย สิ่งเดียวที่ท่านสามารถทำได้ คือ "ร้องขอต่อพระเจ้า" เพื่อที่พระองค์จะทรงอภัยบาปผิดให้แก่เขา และแน่นอนทีเดียว พระเจ้าทรงทรงเปี่ยมด้วยพระคุณ พระองค์ทรงพร้อมที่จะอภัยเสมอ ซึ่งสิ่งที่ท่านได้กล่าวไว้ในสดุดีนี้ เป็นสิ่งที่สนับสนุนสิ่งที่อาจารย์เปาโลต้องการจะถ่ายทอดได้ดีทีเดียว เพราะกษัตริย์ดาวิดเองก็ตระหนักดีว่าท่านไม่สมควรที่จะได้รับการยอมรับจากพระเจ้าได้เลย แต่ท่านก็เชื่อวางใจในพระเจ้า ว่าพระองค์จะทรงอภัยการละเมิด จะทรงกลบเกลื่อนบาปของท่าน และจะมิได้ทรงถือโทษ และสิ่งที่จะทำให้ท่านได้รับสิ่งเหล่านี้ ก็คือ ความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์เจ้า

ตามธรรมเนียมของชาวยิวแล้ว ถ้าหากมีพยานสองสามปากยืนยันในสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นจะสามารถเชื่อถือได้ ดังนั้น การที่อาจารย์เปาโลได้ยกตัวอย่างของท่านอับราฮัม และกษัตริย์ดาวิดแล้วนั้น จึงทำให้ข้อโต้แย้งของท่านเชื่อถือได้

สรุปประเด็นสำคัญ

  • ไม่มีผู้ใดที่สามารถได้รับความชอบธรรมผ่านทางการประพฤติได้ แต่โดยทางพระคุณของพระเจ้า ผ่านทางความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าเท่านั้น

  • ไม่มีใครที่จะสามารถอวดเกี่ยวกับการงานของเขาต่อพระพักตร์พระเจ้าได้เลย

  • แม้แต่บุคคลในพระคัมภีร์เดิมเอง บรรดาคนที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ชอบธรรม ต่างก็ได้รับความชอบธรรมผ่านทางความเชื่อของเขา

  • ถ้าหากว่าความชอบธรรมได้โดยการประพฤติแล้ว ความชอบธรรมที่เขาได้รับก็จะไม่สามารถเรียกว่าเป็น "พระคุณของพระเจ้า" ได้อีก

สรุปบทเรียนที่ได้

  • ไม่มีผู้ใดที่สามารถอวดอ้างตัวเองได้ ทั้งต่อหน้ามนุษย์และต่อหน้าพระเจ้า จึงให้เราถ่อมใจ ไม่คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น

  • อย่าให้เราพยายามรับใช้เพื่อจะได้รับการยอมรับทั้งจากมนุษย์และจากพระเจ้า แต่เป็นเพราะเราได้รับการยอมรับจากพระเจ้า เราได้รับพระคุณจากพระเจ้าแล้ว เราได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ชอบธรรมอยู่แล้ว เราจึงจะรับใช้

ธีรยสถ์ นิมมานนท์
ชั้นศึกษาพระคัมภีร์ ์สำหรับอนุชน คริสตจักรสะพานเหลือง
17/05/2009

  • โรม 3:19-31
    ธรรมบัญญัติ ความชอบธรรม และความเชื่อ

  • โรม 4:1-8
    ความชอบธรรม: ตัวอย่างของอับราฮัมและดาวิด

  • โรม 4:9-12
    ความชอบธรรม VS การเข้าสุหนัด

  • โรม 4:13-22
    แบบอย่างของความเชื่อ

  • โรม 4:23-25
    การถูกนับว่าชอบธรรม

  • โรม 12:1
    เครื่องบูชาที่มีชีวิต

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com