กินลมกินแล้ง

คุณเคยลองพยายามจับลมดูหรือไม่ ? คุณเคยทำให้พายุทอร์นาโด หรือพายุเฮอร์ริเคนสงบลงได้หรือไม่ ? การวิ่งไล่ตามความพึงพอใจในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณไปแสวงหามันผิดที่

ลองฟังความคิดเห็นของบางคนที่ได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวอย่างลำบากดู

"13 และข้าพเจ้าตั้งใจเสาะและแสวงหาโดยสติปัญญา สิ่งที่กระทำกันภายใต้ฟ้าสวรรค์ เป็นเรื่องยากลำบากซึ่งพระเจ้าประทานให้มนุษย์ทำกันอยู่นั้น

14 ข้าพเจ้าเคยเห็นการทั้งปวงซึ่งเขากระทำกัน ภายใต้ดวงอาทิตย์ และดูเถิด สารพัดก็อนิจจัง คือกินลมกินแล้ง" (ปัญญาจารย์ 1:13-14)

สำหรับผู้เขียนท่านนี้ ชีวิต "ภายใต้ดวงอาทิตย์" เป็นสิ่งที่อนิจจัง ไร้ประโยชน์ และปราศจากความหมาย แต่ในบทต่อมา ท่านได้บอกเราถึงการมองชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการมองเหนือดวงอาทิตย์ จากมุมมองของพระเจ้า ถ้าไม่มีพระเจ้าอยู่ในภาพ ทุกสิ่งก็ปราศจากความหมาย

การที่เราทราบว่าผู้เขียนหนังสือคือใคร และเหตุใดท่านจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา จะช่วยให้เราเข้าใจหนังสือปัญญาจารย์ได้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่จากคำบรรยายของผู้เขียนเกี่ยวกับตัวเองว่าเป็น "เชื้อสายของดาวิด กษัตริย์ในเยรูซาเล็ม" รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่งคั่ง อำนาจ สติปัญญา ความสำเร็จ และการมีมเหสีหลายองค์ ทำให้เราพอสรุปได้ว่า ผู้เขียนคือ กษัตริย์ซาโลมอน (ดูปัญญาจารย์ 1:1,12,16; 2:4-9; 7:26-29; 12:9)

ถ้าเรายอมรับว่าซาโลมอนเป็นผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์ เราก็จะเห็นภาพของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเริ่มต้นดี แต่หลงติดอยู่ในความฉาบฉวยของชีวิต (1พงศ์กษัตริย์ 11:1-13) ซาโลมอนได้ทรงค้นพบความผิดพลาด และมาตระหนักถึงเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริงก็ต่อเมื่อพระองค์ทรงชราแล้ว

หนังสือเล่มนี้จะเรียงลำดับตามรูปแบบการเขียนของซาโลมอน โดยจะพูดถึงคำตอบที่เป็นทางตัน ก่อนที่จะเปิดเผยถึงหนทางซึ่งนำไปสู่ความพึงพอใจที่แท้จริง

เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ที่ซาโลมอนทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ และไม่น่าพอใจนั้น ได้แก่ การเรียน ความเพลิดเพลิน การงาน และความรัก

การเรียน

"16 ข้าพเจ้ารำพึงว่า 'ข้าพเจ้ามีสติปัญญามากยิ่ง มากกว่าใครๆที่ครองอยู่เหนือกรุงเยรูซาเล็มมาก่อนข้าพเจ้า ใจข้าพเจ้าก็เจนจัดในสติปัญญาและความรู้ อย่างยิ่ง'

17 ข้าพเจ้าก็ตั้งใจรู้สติปัญญา รู้ความบ้าบอ และความเขลา ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นแต่กินลมกินแล้งด้วย" (ปัญญาจารย์ 1:16-17)

ซาโลมอนเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียน ?

ในสมัยนั้น ชื่อซาโลมอนมีความหมายเดียวกับคำว่า ปัญญา

ผู้เขียนหนังสือ 1พงศ์กษัตริย์ ได้บันทึกเอาไว้ว่า ไม่มีใครที่เป็นอยู่ก่อน หรือขึ้นมาภายหลังซาโลมอน ที่มีปัญญาเหมือนซาโลมอน (1พงศ์กษัตริย์ 3:7-12; 10:1-8) และสติปัญญาของพระองค์ก็ล้ำเลิศกว่าสติปัญญาทั้งสิ้นของชาวตะวันออก และชาวอียิปต์ (1พงศ์กษัตริย์ 4:30)

พระองค์ตรัสสุภาษิต 3,000 ข้อ และทรงเขียนเพลง 1,005 บท (1พงศ์กษัตริย์ 4:32) พระองค์ทรงรู้มากพอที่จะบรรยายเรื่องของต้นไม้ สัตว์ป่า นก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา (1พงศ์กษัตริย์ 4:33) และทั่วโลกก็แสวงหาที่จะฟังพระสติปัญญาของซาโลมอน

ซาโลมอนมีสติปัญญามากได้อย่างไร ?

ซาโลมอนทรงพบว่า ความรู้ทั้งหมดที่พระองค์มีอยู่เกี่ยวกับชีวิตนี้ จะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากพระองค์ไม่รู้จักกับพระผู้สร้าง พระองค์ทรงเรียนรู้ความจริงเรื่องนี้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้เมื่อซาโลมอนเติบโตขึ้น พระองค์ทรงเลือกที่จะลืมความรู้ในเรื่องของพระเจ้า และเริ่มต้นนมัสการพระเทียมเท็จ (1พงศ์กษัตริย์ 11:1-13) ความรู้ของพระองค์ไม่สามารถเติมความว่างเปล่าให้ชีวิตของพระองค์ให้เต็มได้

"15 ข้าพเจ้าจึงรำพึงว่า 'เคราะห์กรรมอันใดเกิดแก่คนเขลาฉันใด ก็คงจะเกิดกับตัวข้าพเจ้าฉันนั้น ถ้ากระนั้นแล้วข้าพเจ้าจะมีสติปัญญามากมายทำไมเล่า' ข้าพเจ้าจึงรำพึงว่าเรื่องนี้ก็อนิจจังเหมือนกัน

16 เพราะไม่มีใครระลึกถึงคนมีสติปัญญาเช่น เดียวกับคนเขลา ด้วยเห็นว่าในอนาคตก็ลืมกันไปหมดแล้ว พุทโธ่ คนมีสติปัญญาก็ตายเหมือนคนเขลา" (ปัญญาจารย์ 2:15-16)

ในที่สุดซาโลมอนก็ทรงตระหนักว่า พระองค์ทรงเดินออกไปนอกเส้นทางที่พระเจ้าทรงกำหนด และทรงถ่อมพระทัยลงต่อพระพักตร์พระเจ้า และกลับมาติดสนิทกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงค้นพบว่าสติปัญญาตามอย่างโลกนั้นไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับชีวิตมนุษย์ได้

ถ้าเช่นนั้น หมายความว่าเราไม่ควรแสวงหาสติปัญญาตามอย่างโลกอย่างนั้นหรือ ?

เปล่าเลย ซาโลมอนทรงทราบดีว่า เวลาที่สมองมีแต่ความว่างเปล่านั้นเป็นอย่างไร การที่เราไม่แสวงหาสติปัญญานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซาโลมอนไม่เคยสนับสนุนให้เราโง่ ตรงกันข้าม พระองค์กล่าวว่า

"13 ข้าพเจ้าเห็นว่าสติปัญญาวิเศษกว่าความเขลา เหมือนความสว่างวิเศษกว่าความมืด

14 คนมีสติปัญญามีตาอยู่ในสมอง แต่คนเขลาเดินในความมืด ถึงกระนั้นข้าพเจ้ายังเห็นว่า เคราะห์อย่างเดียวกันเกิดขึ้นแก่เขาทั้งมวล" (ปัญญาจารย์ 2:13-14)

เป็นการดีที่เราจะแสวงหาความรู้ ยิ่งเรามี "ซาโลมอน" อยู่ในโลกมากเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า การแสวงหาความรู้เพียงพอที่จะรู้นั้น จะจบลงที่ความว่างเปล่า ยิ่งคุณเรียนมากขึ้นเท่าไหร่ คุณจะยิ่งตระหนักถึงความไม่รู้ของคุณมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดคุณก็จะจบลงด้วยความทุกข์ระทม

"เพราะในสติปัญญามากๆก็มีความทุกข์ระทมมาก และบุคคลที่เพิ่มความรู้ก็เพิ่มความเศร้าโศก" (1:18)

เราควรจะแสวงหาความรู้จากที่ไหน ?

แผ่นป้ายโฆษณาของโรงพยาบาลเพื่อการค้นหาแห่งหนึ่ง เขียนติดไว้ว่า "ความรู้ช่วยเยียวยา" ข้อความนี้ถูกเพียงบางส่วน นั่นก็คือ

การค้นคว้าเป็นผลให้มีการรักษาหรือการป้องกันโรคเกิดขึ้น แต่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรม เชื้อโรค หรือน้ำย่อยอาหาร ไม่สามารถเยียวยาหัวใจที่แตกสลายได้

ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการขับเคลื่อนด้วยพลังความร้อน ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา ประสาทวิทยา หรืออุตุนิยมวิทยา ไม่สามารถให้จุดหมายกับชีวิตมนุษย์ได้

ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เราอยู่สามารถอธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราได้ แต่ไม่สามารถบอกเราได้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น

ความรู้อย่างนี้ไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องของคุณธรรมหรือศีลธรรมแก่มนุษย์ได้


"ความรู้ความเข้าใจทั้งหมดของคุณ ช่วยคุณได้แค่เพียงทำให้คุณรู้ว่า
คุณไม่สามารถค้นพบความจริง และความถูกต้องได้ในตัวของคุณเอง"
เบลส ปาสคาล


สิ่งนี้เห็นได้ชัดในความพยายามที่จะระงับการตั้งครรภ์ของเด็กวัยรุ่น และหยุดการแพร่กระจายของเชื่อโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่เราต้องการคือ "คุณธรรม" ความรู้ที่ปราศจากคุณธรรมก็เปรียบเสมือนเรือที่ปราศจากหางเสือ

ซาโลมอนทรงสอนในเรื่องของความสมดุลย์ การพยายามเป็นคนฉลาดนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าคิดว่ามันจะสามารถตอบสนองความต้องการที่อยู่ลึก ๆ ในหัวใจของคุณได้ ความรู้เกี่ยวกับชีวิตในแนวนอน ซึ่งได้แก่โลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถให้คำตอบที่เราต้องการได้ทั้งหมด เรายังต้องการความรู้ในแนวตั้ง ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า พระผู้สร้าง

คิดทบทวน

  • อาจารย์เปาโลพูดถึงสติปัญญาของมนุษย์ไว้อย่างไรในพระธรรม 1โครินธ์ 3:18-20 ?

"18 อย่าให้ผู้ใดหลอกลวงตัวเอง ถ้าผู้ใดในพวกท่านคิดว่า ตัวเป็นคนมีปัญญาตามหลักของยุคนี้ จงให้ผู้นั้นยอมเป็นคนโง่ จึงจะเป็นคนมีปัญญาได้

19 เพราะว่าปัญญาของโลกนี้ เป็นความโง่เขลาในสายพระเนตรของพระเจ้า ด้วยมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระองค์ทรงจับคนที่มีปัญญาด้วยอุบายของเขาเอง

20 และมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์อีกว่า พระเจ้าทรงทราบว่า ความคิดของคนมีปัญญาเป็นสิ่งไร้ประโยชน์" (1โครินธ์ 3:18-20)

  • คุณต้องฉลาดมากแค่ไหน ถึงจะสามารถเข้าใจพระกิตติคุณของพระเจ้าได้ ?

  • จากพระธรรมเยเรมีย์ 9:23-24 และ ฟิลิปปี 3:7-11 ความรู้อะไรสำคัญที่สุด ?

"23 พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า 'อย่าให้ผู้มีปัญญาอวดในสติปัญญาของตน อย่าให้ชายฉกรรจ์อวดในความเข้มแข็งของตน อย่าให้คนมั่งมีอวดในความมั่งคั่งของตน

24 แต่ให้ผู้อวดอวดในสิ่งนี้ คือในการที่เขาเข้าใจและรู้จักเราว่าเราคือพระเจ้า ทรงสำแดงความรักมั่นคง ความยุติธรรม และความชอบธรรมในโลก เพราะว่าเราพอใจในสิ่งเหล่านี้ พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ' " (เยเรมีย์ 9:23-24)

"7 แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว เพื่อเห็นแก่พระคริสต์

8 ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์

9 และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเอง ซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ

10 ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์

11 ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย

12 มิใช่ว่าข้าพเจ้าได้แล้ว หรือสำเร็จแล้ว แต่ข้าพเจ้ากำลังบากบั่นมุ่งไป เพื่อข้าพเจ้าจะได้ฉวยเอาไว้เป็นของตน อย่างที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงฉวยข้าพเจ้าไว้เป็นของพระองค์แล้ว" (ฟิลิปปี 3:7-11)

  • คุณจะจำเริญขึ้นในความรู้ซึ่งมาจากพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ?

"แต่ขอท่านทั้งหลายจงเจริญขึ้นในพระคุณและในความรู้ ซึ่งมาจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเกียรติจงมีแด่พระองค์ทั้งในปัจจุบันนี้และตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน" (2เปโตร 3:18)

ความเพลิดเพลิน

"1 ข้าพเจ้ารำพึงว่า 'มาเถอะ มาลองสนุกสนานกันดู เอ้า จงสนุกสบายใจไป' แต่ดูเถิด เรื่องนี้ก็อนิจจังเช่นกัน

2 ข้าพเจ้าพูดเกี่ยวกับการหัวเราะว่า 'บ้าๆบอๆ' และกล่าวถึงความสนุกสนานว่า 'มีประโยชน์อะไร'

3 ข้าพเจ้าคิดดูว่าจะทำอย่างไร กายจึงจะคึกคักด้วยเหล้าองุ่น และใจยังคงแนะนำข้าพเจ้า ด้วยสติปัญญาและจะยึดความเขลาไว้อย่างไร จนข้าพเจ้าจะเห็นได้ว่า อะไรจะดีสำหรับให้บรรดาบุตรของมนุษย์ กระทำภายใต้ท้องฟ้าตลอดชีวิตของเขา" (ปัญญาจารย์ 2:1-3)

ซาโลมอนมีวิธีการแสวงหาความเพลิดเพลินให้กับชีวิตมากมาย พระองค์ทรงปฏิบัติตามปรัชญาอย่างเดียวกับสโลแกนในโฆษณาที่ว่า "สนุกให้เต็มที่ ชีวิตนี้มีหนเดียว" ซาโลมอนทรงกระทำทุกวิถีทางที่จะหาความสำเริงสำราญให้กับตัวเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระองค์ทรงพบว่า "ความสนุกสนาน" นั้น ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับชีวิต และไม่ได้ดีอย่างที่คิด

ซาโลมอนได้กล่าวในบทที่ 2:1-11 ว่า ความพยายามของพระองค์ในการแสวงหาเป้าหมายของชีวิตโดยการหาความเพลิดเพลินในการกินดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ ดนตรี และสถานที่ที่สวยงามนั้น ก็กินลมกินแล้ง

คุณจะรู้สึกหิวได้อย่างไรเมื่อท้องอิ่ม ?

ซาโลมอนทรงเป็นนักชิมไวน์ชั้นเยี่ยม (ปัญญาจารย์ 2:3) และอาหารที่ดีที่สุดไม่เคยขาดไปจากโต๊เสวยของพระองค์เลย (1พงษ์กษัตริย์ 4:22-23; 10:4-5) แต่กระนั้น พระทัยของพระองค์ยังทรงเหี่ยวแห้ง พระองค์ตรัสว่า

"บรรดาการงานของมนุษย์ก็เพื่อปากของเขา แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่รู้จักอิ่ม" (ปัญญาจารย์ 6:7)

เหตุใดความสนใจในเรื่องเพศจึงลดน้อยลง ?

การแสวงหาความสุขทางเพศ เป็นสิ่งหนึ่งที่ซาโลมอนไม่เคยขาด พระองค์มเหสี 700 องค์ และนางห้าม 300 องค์ (1พงษ์กษัตริย์ 11:3) นักภาษาศาสตร์ได้ตีความหมายของคำว่า "เครื่องดนตรีทุกประเภท" ปัญญาจารย์ 2:8 ว่า หมายถึงฮาเร็ม ซึ่งได้แก่พวกนางห้าม การตีความในลักษณะนี้ เหมาะกับสถานการณ์ของพระองค์ในเวลานั้นจริง ๆ

จากสมัยของซาโลมอน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เราอยู่ในสังคมที่ซึมซาบไปด้วยเรื่องเพศ และเป็นสังคมที่เจ็บป่วยจากปัญหาเรื่องเพศ แต่ซาโลมอนทรงเรียนรู้ว่าเพศไม่ได้ให้ความสุขแก่มนุษย์อย่างที่คิด

เหตุใดเครื่องดนตรีถึงไม่มีความไพเราะ ?

ซาโลมอนทรงเพลิดเพลินกับเสียงเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องชายหญิงของพระองค์

"ข้าพเจ้าสะสมเงินทองไว้ด้วย และส่ำสมทรัพย์สมบัติอันควรคู่กับกษัตริย์และควร คู่กับเมืองทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีนักร้องชายหญิงสำหรับตัวและเมียน้อย ซึ่งเป็นสิ่งชอบใจผู้ชาย" (ปัญญาจารย์ 2:8)

พระองค์ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นเทป และหูฟังติดตัวเวลาเดินไปไหนมาไหน เพราะพระองค์ทรงมีวงดนตรีส่วนพระองค์คอยตามเสด็จไปทั่วพระราชวัง และทั่วทั้งพระราชอาณาเขตทั้งหมด แต่ดนตรีที่ไพเราะเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของความอยุติธรรม การทนทุกข์ หรือการทารุณกรรมได้ เสียงเพลงไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องจุดหมายชีวิตแก่เรา เพียงแต่ช่วยหันเหเรา และช่วยให้เราสงบใจ เพื่อนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้อีกวันหนึ่งเท่านั้นเอง

เหตุใดสวนที่งดงามจึงเหี่ยวแห้งลง ?

"5 ข้าพเจ้าทำสวนผลไม้และสวนหย่อนใจหลายแห่ง ปลูกต้นไม้มีผลหลายอย่างไว้ในสวนเหล่านั้น

6 ข้าพเจ้าสร้างสระน้ำหลายสระสำหรับตัวเอง เพื่อจะใช้น้ำในสระนั้นรดหมู่ไม้ที่กำลังงอกงาม" (ปัญญาจารย์ 2:5-6)

ซาโลมอนทรงสร้างทิวทัศน์ที่สวยงามไว้รอบกายของพระองค์ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่พระเนตรของพระองค์ ทั้งไม้ดอก ไม้ต้น และไม้พุ่ม ซึ่งขึ้นเรียงกันอยู่เป็นทิวแถว

แต่ในขณะที่คนสวนดูแลต้นไม้อยู่นั้น ซาโลมอนทรงตระหนักว่า ภายในจิตใจของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยวัชพืชแห่งความสับสน และความเพลิดเพลินสนุกสนานที่เห็นแก่ตัว มีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น (ปัญญาจารย์ 2:11) เช่นเดียวกับที่บาปเข้ามาในสวนเอเดน (ปฐมกาล 1-3) พระองค์ทรงเรียนรู้ว่าความบาปสามารถทำลายความงามในชีวิตของมนุษย์ได้

ผู้คนในปัจจุบันพยายามแสวงหาความสุขด้วยวิธีการอย่างไร ?

วิธีการของเรา ไม่ต่างจากวิธีการของซาโลมอนมากนัก เรายังคงจับฉวยความสนุกสนานและสุดท้ายก็จบลงที่ความว่างเปล่า สังคมที่เราอยู่นั้นหมกมุ่นแต่ในเรื่องเพศ บางคนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของดนตรี หลายคนหาความเต็มอิ่มจาการกินดื่ม บางคนก็ทุ่มเทลงไปกับการตกแต่งบ้านให้สวยงาม แต่ก็มีบางคนที่ยังคงแสวงหาความสุขโดยพึ่งยาเสพติด ซึ่งทำให้เขามองไม่เห็นว่าชีวิตของพวกเขากำลังถูกทำลายอย่างไร

ไม่ว่าคุณจะแสวงหาความสุขด้วยวิธีใด ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะเป็นแบบเดียวกัน นั่นก็คือ ความสุขที่ไม่สามารถให้ความอิ่มบริบูรณ์ได้ตลอดไป ความตื่นเต้น ความสูงส่ง หรือการหัวเราะ ก็ล้วนแต่ปราศจากพลังแห่งการดำรงอยู่

คิดทบทวน

  • คุณสามารถเลียนแบบทัศนคติของโมเสสในเรื่องของการมี "ชีวิตที่ดี" ได้อย่างไร ?

"24 เพราะความเชื่อ เมื่อโมเสสโตแล้วท่านไม่ยอมให้ใครเรียกท่านว่า เป็นบุตรของธิดากษัตริย์ฟาโรห์

25 ท่านเลือกการร่วมทุกข์กับชนชาติของพระเจ้าแทนการเริงสำราญในความชั่ว

26 ท่านถือว่าการอดทนต่อความอัปยศเพื่อพระคริสต์ ประเสริฐกว่าสมบัติของประเทศอียิปต์ เพราะท่านหวังบำเหน็จที่จะได้รับนั้น" (ฮีบรู 11:24-26)

  • อาจารย์เปาโลได้บรรยายถึงลักษณะจิตใจของมนุษย์ในสมัยจะสิ้นยุคไว้ว่าอย่างไร ?

"1 แต่จงเข้าใจข้อนี้ คือว่าในสมัยจะสิ้นยุคนั้น จะเกิดเหตุการณ์กลียุค

2 เพราะมนุษย์จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน เย่อหยิ่ง ยโส ชอบด่าว่า ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา อกตัญญู ไร้ศีลธรรม

3 ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี

4 ทรยศ มุทะลุ หัวสูง รักความสนุกยิ่งกว่ารักพระเจ้า" (2ทิโมธี 3:1-4)

  • จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณถูกกระตุ้นด้วยความปรารถนาที่จะแสวงหาความสุขให้กับชีวิต ?

"1 อะไรเป็นสาเหตุของสงคราม และอะไรเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทกันในพวกท่าน มิใช่กิเลสตัณหาของท่านหรือ ที่ทำให้ท่านต่อสู้กัน

2 ท่านทั้งหลายอยากได้ แต่ไม่ได้ ท่านก็ฆ่ากัน ท่านโลภแต่ไม่ได้ ท่านก็ทะเลาะและทำสงครามกัน ท่านไม่มีเพราะท่านไม่ได้ขอ

3 ท่านขอและไม่ได้รับ เพราะท่านขอผิด หวังได้ไปเพื่อสนองกิเลสตัณหาของท่าน

4 คนทุจริตเอ๋ย ไม่รู้หรือว่า การเป็นมิตรกับโลกนั้น คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า เหตุฉะนั้น ผู้ใดใคร่เป็นมิตรกับโลก ผู้นั้นก็ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า" (ยากอบ 4:1-4)

  • ความสุขแบบไหนที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระเจ้า ?

การงาน

"17 ข้าพเจ้าจึงเกลียดชีวิต เพราะว่าการงานที่เขาทำกันภายใต้ ดวงอาทิตย์ก่อความสลดใจให้แก่ข้าพเจ้า เพราะสารพัดก็อนิจจังคือกินลมกินแล้ง

18 ข้าพเจ้าเกลียดการงานทั้งสิ้นของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าตรากตรำอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ เพราะข้าพเจ้าจำต้องละการนั้นไว้ให้ แก่คนที่มาภายหลังข้าพเจ้า" (ปัญญาจารย์ 2:17-18)

ความรู้สึกที่พระองค์มีต่อวัฎจักรการทำงานที่ไม่มีวันจบสิ้นนี้ เป็นความรู้สึกที่เราทุกคนคงจะคุ้นเคยดี

แม่ที่มีลูกเล็ก ๆ อาจจะต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวันในการซักเสื้อผ้า แต่กลับเห็นลูกน้อยจอมซนละเลงอาหารบนเสื้อผ้าที่สวมอยู่ หรือวิ่งตกลงไปเปื้อนโคลน "โดยไม่ได้ตั้งใจ" หรือ

นักธุรกิจอาจจะใช้เวลาทั้งวัน หรือตลอดสัปดาห์ เพื่อเตรียมข้อเสนอใหม่ แต่กลับถูกหัวหน้าปฏิเสธ หรือ

ชายคนหนึ่งใช้เวลาทั้งวันในการล้าง และขัดรถ แต่กลับถูกชนจนกันชนบุบในวันนั้นเอง

จะเป็นอย่างไร หากชีวิตของคุณดำเนินมาตลอดโดยมีทัศนคตคิว่า ความสำเร็จทั้งหมดที่คุณได้รับนั้นไม่มีคุณค่า ปราศจากความหมาย ว่างเปล่า และไร้ประโยชน์ ? ความคิดเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากคุณพยายามใช้ชีวิต "ภายใต้ดวงอาทิตย์" ของคุณโดยปราศจากพระเจ้า เมื่อซาโลมอนทรงมองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา ก็พบว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความสำเร็จของตัวเองมากเกินไป

ซาโลมอนประสบความสำเร็จในเรื่องใดบ้าง ?

ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ บทที่ 1-11 ได้บรรยายถึงความสำเร็จมากมายที่ซาโลมอนทรงได้รับ

พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่ง (พงศ์กษัตริย์ 4:22-28; 10:14-29)

แผ่นดินที่พระองค์ทรงปกครองนั้น เริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำยูเฟรติส ไปจนถึงพรมแดนอียิปต์ (พงศ์กษัตริย์ 4:21)

ชื่อเสียงของพระองค์ในฐานะนักประพันธ์และนักปราชญ์นั้น เลื่องลือไปนานาประเทศ (พงศ์กษัตริย์ 4:32-33)

พระองค์ทรงสร้างพระนิเวศที่สง่างามถวายแด่พระเจ้า (พงศ์กษัตริย์ 6:1-38) และพระราชวังของพระองค์นั้น ถือได้ว่าเป็นผลงานแห่งความงามชิ้นเอก (พงศ์กษัตริย์ 7:1-12)

แม้แต่บรรดากษัตริย์ต่างชาติยังถวายส่วยอากรให้กับพระองค์ (พงศ์กษัตริย์ 4:21; 10:14-15)

แต่เมื่อพระองค์ทรงมองดูผลงานของพระองค์เอง และของคนอื่น ๆ พระองค์กลับกล่าวว่า

"22 เพราะว่าเขาได้อะไรจากบรรดางานตรากตรำ และคร่ำเครียดที่เขาต้องทำภายใต้ดวงอาทิตย์เล่า

23 ด้วยว่าปีเดือนของเขามีแต่ความเจ็บปวด และกิจธุระของเขาก่อความสลดใจ ถึงกลางคืนจิตใจของเขาก็ไม่หยุดพักสงบ นี่ก็อนิจจังด้วย" (ปัญญาจารย์ 2:22-23)

เมื่อไรที่เราถูกครอบงำมากเกินไปจากสิ่งที่เราครอบครองอยู่ ?

มีคนมากมายที่อยากจะร่ำรวยแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของซาโลมอน และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลอตเตอรี่และสลากกินแบ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยความหวังที่จะเป็นหนึ่งในล้านคนที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง ผู้คนมากมายที่เล่นเกมโชว์ทางโทรทัศน์ ต่างส่งเสียงร้องและแสดงกิริยาที่ไม่น่าดูออกมา เพื่อแข่งขันชิงเงินหรือรางวัลจากทางรายการ แต่ซาโลมอนทรงย้ำเตือนเราว่า

"คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน และคนรักสมบัติไม่รู้จักอิ่มกำไร นี่ก็อนิจจังด้วย" (ปัญญาจารย์ 5:10)

เราควรมีทัศนคติอย่างไรต่อสิ่งที่เรามีอยู่ ?

ซาโลมอนตรัสว่า

"อนึ่ง ทุกๆคนที่พระเจ้าประทานทรัพย์สมบัติให้ ก็ได้ทรงโปรดให้รับประทานของเหล่านั้น ได้รับส่วนของตน และยินดีปรีดาในการงานของตนได้ นี่แหละเป็นของประทานจากพระเจ้า" (ปัญญาจารย์ 5:19)

คนที่มีความปรารถนาอยู่ตลอดเวลาในสิ่งที่ตัวเองไม่มี เป็นคนที่ไม่เคยพบกับความอิ่มใจ ซาโลมอนยังทรงทราบอีกว่า ความอิ่มใจจะไม่อยู่กับคนที่มองดูสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในมือด้วยจิตใจที่ว่างเปล่า

กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความอิ่มใจ ก็คือ ความพึงพอใจในสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้อย่างเพียงพอตามความจำเป็นของเรา

"11 ข้าพเจ้าไม่ได้บ่นถึงเรื่องความขัดสน เพราะข้าพเจ้าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น

12 ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสน

13 ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า" (ฟิลิปปี 4:11-13)

"และพระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานสิ่งสารพัดที่พวกท่านขาดอยู่นั้น จากทรัพย์อันรุ่งเรืองของพระองค์ในพระเยซูคริสต์" (ฟิลิปปี 4:11-13)

เหตุใดการพยายามไขว่คว้าเพื่อให้ไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ?

ผู้คนมากมายทุ่มเทชีวิตในการปีนป่ายขึ้นสุ่บันไดแห่งความสำเร็จ แต่ซาโลมอนทรงชี้ให้เราเห็นว่า ผู้ที่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด จะไม่สามารถยืนอยู่ที่ตรงนั้นได้ตลอดไป เขาจะถูกลืม เมื่อมีคนอื่นเข้ามาแทนที่ (ปัญญาจารย์ 4:13-16) เกียรติยศ ชื่อเสียง และอำนาจ เป็นสิ่งที่อยู่ไม่นาน และไม่สามารถตอบสนองความต้องการในจิตใจมนุษย์ได้ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงทราบบางสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรจะรู้ด้วย นั่นก็คือ อำนาจและชื่อเสียงไม่ได้เป็นของผู้ที่สมควรได้รับที่สุดเท่านั้น

"5 มีสิ่งสามานย์ที่ข้าเห็นภายใต้ดวงอาทิตย์ ประหนึ่งว่าเป็นความผิดซึ่งมาจากผู้มีอำนาจ

6 คือคนเขลาถูกแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งสูงใหญ่ และคนมั่งคั่งรับตำแหน่งต่ำต้อย

7 ข้าพเจ้าเห็นทาสขี่ม้า และเจ้านายเดินที่พื้นแผ่นดินอย่างทาส (ปัญญาจารย์ 10:5-71)

ถ้าเช่นนั้นเราจะทำงานไปเพื่ออะไรกัน ?

ซาโลมอนทรงบอกให้รู้ว่า การงานเป็นสิ่งที่ดี ถ้าหากคุณไม่ให้ความสำคัญกับมันมากจนเกินไป พระองค์ทรงย้ำเตือนเราเกี่ยวกับมุมมองของพระเจ้าในเรื่องการงานและเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า

"สำหรับมนุษย์นั้นไม่มีอะไรดีไปกว่ากิน และดื่ม กับหาความชื่นบานในการงานของเขา นี่แหละข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นมาจากพระหัตถ์ของพระเจ้า" (ปัญญาจารย์ 2:24)

ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวต่อไปอีกว่า

"ด้วยถ้าไม่อาศัยพระองค์แล้วใครจะกินได้เล่า หรือใครจะมีความชื่นบานได้" (ปัญญาจารย์ 2:25)

อันเป็นการอ้างถึงสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นของหนังสือปัญญาจารย์เกี่ยวกับความต้องการพระเจ้า หากเราต้องการพบกับความพึงพอใจในชีวิต

หากว่าเราลำดับความสำคัญในชีวิตของเราไม่ดี ผลเสียจะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง การพยายามที่จะแสวงหาความพึงพอใจในชีวิตโดยไม่พึ่งพระเจ้า ก็เปรียบเหมือนกับการเล่นเทนนิส หรือตีกอล์ฟ โดยไม่ใช่ไม้ตี

คิดทบทวน

  • เหตุใดพระเจ้าจึงมีคำสั่งให้ชนชาติอิสราเอลสงวนวันหนึ่งไว้สำหรับการพักผ่อน การเก็บรักษาวันหนึ่งไว้สำหรับการนมัสการจะช่วยให้เรามีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการทำงานได้อย่างไร ?

"12 'จงถือวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ ดังที่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าทรงบัญชา ไว้แก่เจ้า

13 จงทำการงานทั้งสิ้นของเจ้าหกวัน

14 แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโต(แปลว่า หยุด หยุดพัก (งาน)) แห่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำงานสิ่ง ใดๆ คือเจ้าเอง หรือบุตราบุตรีของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือโคของเจ้า หรือลาของเจ้า หรือสัตว์ใช้ใดๆของเจ้า หรือแขกที่อยู่ในเมืองของเจ้า เพื่อทาสทาสีของเจ้าจะได้หยุดพักอย่างเจ้า

15 จงระลึกว่าเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ และพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้พาเจ้าออกมาจากที่นั่น ด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์และด้วยพระกรที่เหยียดออก เหตุฉะนี้พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้ทรงบัญชาให้เจ้ารักษาวันสะบาโต' " (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:12-15)

  • คุณจัดการงานไว้เป็นลำดับที่เท่าไหร่ในชีวิต

กลับสู่รายการ สิ่งที่กษัตริย์ซาโลมอนเห็นว่าไร้ประโยชน์

ความรัก

"เจ้าจงอยู่กินด้วยความชื่นชมยินดีกับภรรยาซึ่ง เจ้ารักตลอดชีวิตอนิจจังของเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้แก่เจ้าภายใต้ดวงอาทิตย์ ตลอดปีเดือนอนิจจังของเจ้า ด้วยว่านั่นเป็นส่วนในชีวิตและในการงานของเจ้า ซึ่งเจ้าได้ออกแรงกระทำภายใต้ดวงอาทิตย์" (ปัญญาจารย์ 9:9)

แม้ว่าซาโลมอนจะทรงส่งเสริมให้มีการแต่งงาน แต่พระองค์ทรงตระหนักดีว่า ความหมายและเป้าหมายของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

คำว่า "อนิจจัง" ในข้อ 9 ที่พระองค์ทรงใช้นั้น ก็เพื่อจะเน้นว่า คำแนะนำของพระองค์เกี่ยวกับการแสวงหาความสุขจากสามีหรือภรรยาของตัวเองเป็นคำแนะนำที่อาจจะช่วยให้ชีวิตทนทานได้มากขึ้นบ้าง แม้ว่ามันจะไม่ได้อธิบายความหมายของชีวิตเลยก็ตาม

จากประสบการณ์ พระองค์ทรงพบว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแต่งงานนั้น ไม่ใช่คำตอบสำหรับความต้องการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจิตใจของมนุษย์ ซาโลมอนทรงวิวาห์มาแล้วเจ็ดร้อยครั้ง และมีนางห้ามอีกสามร้อยคน แต่พระองค์ทรงทราบดีว่า พระราชวังพร้อมด้วยมเหสีมากมาย ไม่สามารถทดแทนความต้องการพระเจ้าของพระองค์ได้

ซาโลมอนยังทรงมองเห็นถึงคุณค่าของมิตรภาพด้วย

"8 คือ คนหนึ่งอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีบุตรหรือพี่น้อง แต่เขาทำการงานไม่หยุดหย่อน ตาของเขาไม่เคยอิ่มความมั่งคั่ง เขาไม่เคยคิดว่า “ข้าตรากตรำทำงานและตัวข้าอดๆอยากๆเพื่อผู้ใด” นี่ก็อนิจจังด้วยและเป็นเรื่องสามานย์

9 สองคนดีกว่าคนเดียว เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดี

10 ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง อีกคนหนึ่งจะได้พะยุงเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น แต่วิบัติแก่คนนั้นที่อยู่คนเดียวเมื่อเขาล้มลง และไม่มีผู้อื่นพะยุงยกเขาให้ลุกขึ้น

11 อนึ่ง ถ้าสองคนนอนอยู่ด้วยกัน เขาก็อบอุ่น แต่ถ้านอนคนเดียวจะอุ่นอย่างไรได้เล่า 12แม้คนหนึ่งสู้คนเดียวได้ สองคนคงสู้เขาได้แน่ เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้" (ปัญญาจารย์ 4:8-12)

ซาโลมอนทรงชี้ให้เราเห็นว่า บุคคลที่มีเพื่อนร่วมด้วยในการดำเนินชีวิต ก็ดีกว่าคนที่อยู่เพียงลำพัง และต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะเพื่อนสามารถช่วยให้การงานเกิดผล ช่วยในยามที่มีปัญหา ทำให้ทนต่อภาวะยากลำบากได้ และ ช่วยเสริมกำลังในเวลาที่ข้าศึกโจมตี

มิตรภาพมีคุณค่าพอที่เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อมันหรือไม่ ?

หากว่าเราเกิดเรือแตก และต้องติดอยู่บนเกาะร้าง การมีใครสักคนอยู่ด้วยน่าจะช่วยให้อุ่นใจกว่า แต่มิตรภาพก็ไม่ได้ช่วยให้คุณออกจากเกาะได้

แม้ว่าซาโลมอนจะยกย่องคุณงามความดีของความรักและการช่วยเหลือผู้อื่น

"จงปันส่วนหนึ่งให้แก่คนเจ็ดคน เออ ถึงแปดคนก็ให้เถอะ

เพราะเจ้าไม่ทราบว่า สิ่งสามานย์อย่างใดจะบังเกิดขึ้นบนพื้นแผ่นดิน" (ปัญญาจารย์ 11:2)

แต่พระองค์ทรงตระหนักดีว่า การแสดงความรักต่อผู้อื่น ไม่ได้ให้เป้าหมายกับชีวิตที่ปราศจากเป้าหมาย และนั่นก็คือเหตุผลที่พระองค์ทรงย้ำอยู่ตลอดเวลาถึงความจำเป็นที่เราต้องให้พระเจ้าเข้าไปมีส่วนในชีวิตนี้และในชีวิตภายหน้า (ปัญญาจารย์ 2:24-25; 3:13,14,17; 5:1-7; 7:13-18; 8:12-17; 11:7-10; 12:1-14)

อย่างไรก็ดี ผู้คนมากมายไม่ยอมให้พระเจ้าเข้าไปมีบทบาทในชีวิต คนเหล่านั้นพูดเหมือนไม่กลัวการพิพากษาที่จะมาถึง ไม่สนใจที่จะแสดงความรักต่อพระเจ้า พวกเขาเชื่อว่าเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ก็เพื่อที่จะรักผู้อื่น และทำให้โลกนี้เป็นที่ที่น่าอยู่มากขึ้น โดยเหตุผลว่า ถ้าหากเราทุกคนติดอยู่บนโลกใบนี้ด้วยกัน เราก็น่าจะพยายามปรับตัวเข้าหากัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งได้อธิบายถึงเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ โดยกล่าวว่า "ฉันพยายามที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ฉันพยายามที่จะเป็นคนดี ฉันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า แต่ฉันพยายามมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น"

มีอะไรที่สำคัญกว่าการรักผู้อื่นอีก ?

การพยายามทำเป็นคนใจบุญ เป็นสิ่งที่ประเสริฐและน่ายกย่อง คุณสามารถพบข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่สอนให้มนุษย์รักซึ่งกันและกัน

พระเยซูคริสต์ทรงตรัสว่า

"... จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" (มัทธิว 22:39)

และพระองค์ได้เน้นถึงความจำเป็นที่เราต้องรักผู้อื่นเมื่อทรงเล่าถึงเรื่องของชาวสะมาเรียใจดี (ลูกา 10:25-37)


"โลกของเรานั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่เห็นแก่ตัว ตื่นกลัว และตื้น ๆ"
ชาร์ลส์ โคลสัน


แต่เราต้องไม่ลืมว่า พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้เรารักเพื่อนบ้าน เพราะนั่นเป็นการแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อพระเจ้า

"เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น" (ยอห์น 13:34)

"9 พระบิดาทรงรักเราฉันใด เราก็รักท่านทั้งหลายฉันนั้น จงยึดมั่นอยู่ในความรักของเรา

10 ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะยึดมั่นอยู่ในความรักของเรา เหมือนดังที่เราประพฤติตามพระบัญญัติของพระบิดา และยึดมั่นอยู่ในความรักของพระองค์

11 นี่คือสิ่งที่เราได้บอกแก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราดำรงอยู่ในท่าน และให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม

12 พระบัญญัติของเรา คือให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เราได้รักท่าน" (ยอห์น 15:9-12)

พระเยซูคริสต์ได้ทรงตรัสถึงคำสั่งที่ให้เรารักพระเจ้าว่า เป็นธรรมบัญญัติข้อใหญ่สุด

"37 จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า

38 นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่ และข้อต้น" (มัทธิว 22:37-38)

ความรักที่เรามีต่อเพื่อนบ้านของเรานั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่ยังไม่เพียงพอ และเป็นสิ่งที่กินลมกินแล้ง หากว่าคุณไม่ได้รักพระเจ้าก่อน

เมื่อใดความรักของเราจึงจะมีคุณค่าถาวรได้ ?

ในหนังสือปัญญาจารย์ ซาโลมอนทรงตรัสถึงความโง่และการทำลายล้างซึ่งเกิดจากการไม่รักผู้อื่น (4:8; 7:9; 9:18) แม้ว่าพระองค์จะทรงเชิญชวนให้ผู้อ่านแสวงหาความเพลิดเพลินในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ แต่พระองค์ทรงชี้ให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าเป็นอันดับแรก

"จบเรื่องแล้ว ได้ฟังกันทั้งสิ้นแล้ว จงยำเกรงพระเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะนี่แหละเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทั้งปวง" (ปัญญาจารย์ 12:13)

และเพื่อให้ประเด็นที่พระองค์ทรงกล่าวนั้นสมบูรณ์จริง ๆ พระองค์ยังทรงตรัสถึงความสิ้นหวังของการมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง


"หนังสือปัญญาจารย์นั้น เริ่มต้นโดยกล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่มีความหมาย

แต่จบลงโดยกล่าวว่าทุกสิ่งมีความหมาย"


ถ้าไม่มีความรู้ของพระเจ้า เราอาจสรุปได้ว่าชีวิตของมนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์

"18 ข้าพเจ้ารำพึงในใจของข้าพเจ้าเกี่ยวกับบรรดาบุตร ของมนุษย์ว่า พระเจ้าทรงทดสอบเขาเพื่อจะสำแดงว่าเขาเป็นเพียงสัตว์

19 เพราะว่าเคราะห์ของบรรดามนุษยชาติกับเคราะห์ของ สัตว์เดียรัจฉานนั้นเหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายหนึ่งก็ตายเหมือนกัน ทั้งสองมีลมหายใจอย่างเดียวกัน และมนุษย์ไม่มีอะไรดีกว่าสัตว์เดียรัจฉาน เพราะสารพัดก็อนิจจัง

20 ทุกอย่างไปยังที่เดียวกัน ทุกอย่างเป็นมาจากผงคลีดิน และทุกอย่างกลับเป็นผงคลีดินอีก

21 ใครรู้ว่าจิตวิญญาณของมนุษย์ไปสู่เบื้องบนหรือเปล่า และวิญญาณของสัตว์เดียรัจฉานลงไปสู่พิภพโลกหรือเปล่า" (ปัญญาจารย์ 18-21)

เราคงไม่อาจรู้ว่าจิตวิญญาณของมนุษย์ยังคงอยู่เพื่อรอการพิพากษาจากพระเจ้าในเวลาที่กำลังจะมาถึง การพยายามทำเป็นคนใจบุญนั้นไม่ได้ให้คุณค่านิรันดร์

พระธรรม 1โครินธ์ 13 ซึ่งเป็นบทที่บรรยายถึงความรักได้อย่างยอดเยี่ยมนั้น ได้ประกาศถึงความยิ่งใหญ่แห่งความรัก แต่ความรักที่พูดถึงนั้นจะเป็นจริงได้เฉพาะกับคนที่รู้จักความหมายของการได้รับความรักจากพระเจ้า และการที่จะรักพระเจ้าเท่านั้น

การรักผู้อื่น แม้ว่าจะดีสักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่พอที่จะเป็นรากฐานในชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องมีเหตุผลที่จะรักนอกเหนือไปจากชีวิตที่เรามีอยู่ในโลกใบนี้ ซึ่งเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่ในความรักของพระเจ้า (ยอห์น 4:7 - 5:3)

คิดทบทวน

  • คุณใช้เวลามากน้อยเพียงไรในการสร้างมิตรภาพ หรือกับชีวิตสมรส และคุณได้อุทิศเวลามากแค่ไหนในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ?

  • ความรักที่คุณมีต่อผู้อื่นอย่างถูกต้องนั้น จะสามารถสะท้อนให้เขาเห็นถึงความรักที่คุณมีต่อพระเจ้าโดยตรงได้อย่างไร ?

"20 ถ้าผู้ใดว่า 'ข้าพเจ้ารักพระเจ้า' และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้

21 พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย" (1ยอห์น 4:20-21)

  • ลองใคร่ครวญดูสิว่า คุณปรารถนาที่จะรู้จักและทำให้พระคริสต์พอพระทัยมากแค่ไหน ? ทำอย่างไรที่จะเพิ่มพูนความปรารถนาอยากรู้จักกับพระเจ้าให้มากขึ้นในชีวิตของคุณ ?

"7 แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว เพื่อเห็นแก่พระคริสต์

8 ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์

9 และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเอง ซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ

10 ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์

11 ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย" (ฟิลิปปี 3:7-11)

มาร์ติน อาร์ เดอ ฮาน II
เขียนโดย เคิร์ท เดอ ฮาน
แปลโดย ปาริชาติ แสงอัมพร
เรียบเรียงโดย ชนิดา จิตตรุทธะ
จากหนังสือ ฉันมาอยู่ในโลกนี้ทำไม?

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com