ภาคผนวก

ชีวิตของพระคริสต์แห่งวันอีสเตอร์

1. พระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่ปราศจากบาป

พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงคืนพระชนม์จากความมรณา ทรงดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างบริสุทธิ์ และปราศจากความผิดบาป พระองค์ตรัสกับบรรดาผู้กล่าวหาพระองค์ว่า

"มีผู้ใดในพวกท่านหรือ ที่ชี้ให้เห็นว่าเราได้ทำผิด ถ้าเราพูดความจริง ทำไมท่านจึงไม่เชื่อเรา" (ยอห์น 8:46)

เปโตรผู้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ยืนยันว่า

"เพราะพระเจ้าทรงใช้ท่านสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะว่าพระคริสต์ก็ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ให้เป็นแบบอย่างแก่ท่านเพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปเลย และไม่ได้ตรัสคำเท็จเลย" (1เปโตร 2:21-22)

ยอห์น สาวกที่พระองค์ทรงรักที่สุด และอายุยืนยาวที่สุด ก็ยืนยันว่า

"ท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า พระองค์ได้ทรงปรากฏ เพื่อกำจัดบาปของเราให้หมดไป และพระองค์ไม่ทรงมีบาปเลย" (1ยอห์น 3:5)

แม้แต่ ปีลาต เจ้าเมืองผู้เป็นประธานในการตัดสินคดีของพระองค์ ยังกล่าวกับผู้กล่าวหาพระองค์ว่า

"ปีลาตจึงว่าแก่มหาปุโรหิต กับประชาชนว่า “เราไม่เห็นว่าคนนี้มีความผิด” " (ลูกา 23:4)

2. พระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่สำแดงการมหัศจรรย์

  • พระองค์ทรงฤทธิ์อำนาจเหนือธรรมชาติ

    • ห้ามลมพายุ

    • เปลี่ยนน้ำเป็นน้ำองุ่น

    • เลี้ยงคน 5000 คนด้วยขนมปัง 5 ก้อน และปลา 2 ตัว

  • พระองค์ทรงฤทธิ์อำนาจเหนือผีร้าย

    • ขับผีออกจากมนุษย์

  • พระองค์ทรงฤทธิ์อำนาจเหนือความเจ็บป่วย

    • รักษาคนโรคเรื้อน

    • รักษาคนง่อย

    • รักษาคนหูหนวก และเป็นใบ้

    • รักษาคนตาบอด

  • พระองค์ทรงฤทธิ์อำนาจเหนือความตาย

    • ทำให้คนตายแล้วกลับฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ เช่น ลาซารัส บุตรสาวของนายธรรมศาลา และ บุตรของแม่ม่าย

    • พระองค์เอ็ง ก็ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย

  • พระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก
    นักประวัติศาสตร์เรืองนาม นามว่า เคนเน็ท สก็อต ลาทัวเร็ต ได้กล่าวยกย่องไว้ว่า "พระเยซูคริสต์ เป็นชีวิตที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด เท่าที่เคยปรากฎมาบนพื้นพิภพ และอิทธิพลของพระองค์ นับวันจะเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ"

3. พระองค์ดำเนินชีวิตที่สนองตอบต่อความต้องการในส่วนลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์

เซนต์ ออกัสติน นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวว่า ...

"พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงสร้างเรามาเพื่อพระองค์เอง จิตใจของเราจะไม่พบสันติสุขแท้ จนกว่าเราจะพบความสุขสงบในพระองค์"

ความจริง พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า ...

"บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข" (มัทธิว 11:28)

พระองค์ยังตรัสต่อไปว่า ...

"เรามอบสันติสุขไว้ให้แก่ท่านทั้งหลาย สันติสุขของเราที่ให้แก่ท่านนั้น เราให้ท่านไม่เหมือนโลกให้ อย่าให้ใจของท่านวิตกและอย่ากลัวเลย" (ยอห์น 14:27)

วันนี้ พระคริสต์แห่งวันอีสเตอร์ พร้อมจะประทานสันติสุขและชีวิตใหม่ รวมทั้งการเป็นขึ้นมาจากความตายในอนาคตให้แก่คุณ

ชีวิตที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพระเยซูคริสต์ แห่งวันอีสเตอร์

  • พระองค์ไม่เคยเขียนหนังสือแม้แต่เล่มเดียว

แต่มีหนังสือมากมายท่วมท้นในทุกชาติ ทุกภาษา ที่พรรณนาถึงพระองค์

  • พระองค์ไม่เคยก่อตั้งมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เยื้องกรายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

แต่นักศึกษาทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน รวมกันแล้ว ก็ยังไม่เท่ากับจำนวนศิษย์ของพระองค์

  • พระองค์ไม่ใช่จิตแพทย์

แต่ยังคงไม่มีจิตแพทย์คนใดในโลก ที่เคยรักษาดวงจิตที่ฟกช้ำ และดวงใจที่แตกสลายได้ผลมากเท่าพระองค์

  • พระองค์ไม่เคยมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา

แต่ตลอดประวัติศาสตร์ ยังไม่เคยมีผู้นำคนใดที่มีผู้ยอมพลีชีพให้ด้วยความจงรักภักดี มากเท่ากับพระองค์

วันอีสเตอร์เป็นวันสำคัญสำหรับคริสเตียนจริงหรือ?

มีผู้กล่าวว่า วันอีสเตอร์นั้น ไม่ใช่วันสำคัญของคริสตศาสนา ! และคำว่า "อีสเตอร์" ก็ไม่ปรากฎอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ อีกทั้งชื่อ "อีสเตอร์" ก็เป็นนามของเจ้าแม่หรือเทพเจ้าสตรีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ของชาวแองโกล แซกซอน ที่มีชื่อว่า "Eostre"

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชื่อนั้นจะมาจากไหน หรือเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ อีสเตอร์ หมายถึง "วันที่คริสเตียนเฉลิมฉลองการเป็นขึ้นมาจากความตาย (The Resurrection) ขององค์พระเยซูคริสต์เจ้า !"

(ตามประวัติศาสตร์ บ่งบอกว่า บาทหลวงชาวแองโกล แซกซอน (คนอังกฤษโบราณ) ผู้เป็นที่ยกย่องของฝูงชน นามว่า Bede ในศตวรรษที่ 8 เป็นผู้นำเอาชื่อ "Easter" นี้มาใช้เป็นคนแรก)

ก็เหมือนกับทุกวันนี้ เราใช้ชื่อของเทพเจ้าต่าง ๆ ของคนในสมัยโบราณมาใช้เรียกสิ่งที่เราคุ้นเคย และยอมรับเป็นอย่างดี อย่างเช่น เรื่องวันต่าง ๆ ในสัปดาห์

  • วันอาทิตย์ (Sunday) เป็นชื่อของ Sun god (สุริยเทพ)

  • วันจันทร์ (Monday) เป็นชื่อของ Moon god (จันทรเทพ)

  • วันอังคาร (Tuesday) เป็นชื่อของ Tiu เทพแห่งสงครามของเยอรมัน

  • วันพุธ (Wednesday) เป็นชื่อของ Odin เทพสูงสุดของชาว Norse (ชาวนอร์เวย์โบราณ)

  • วันพฤหัสบดี (Thursday) เป็นชื่อของ Thor เทพแห่งสายฟ้า อากาศ และพืชผลของชาว Norse

  • วันศุกร์ (Friday) เป็นชื่อของ Frigga มเหสีของโอดิน (Odin) และเป็นเทพเจ้าสตรีแห่งความรัก (สมรส)

  • วันเสาร์ (Saturday) เป็นชื่อของ Saturn เทพกสิกรแห่งชาวโรม

แม้แต่ชื่อเดือน ก็มาจากนามของเทพเจ้าโบราณ ได้แก่

  • มกราคม (January) เป็นชื่อของ Janus เทพเจ้าแห่งประตูและทางเข้า

  • กุมภาพันธ์ (February) เป็นชื่อของ Februus เทพอิตาเลียนโบราณ และเทศกาลแห่งการชำระ (Festival of Purification)

  • มีนาคม (March) เป็นชื่อของ Mars เทพสงครามของโรม

  • เมษายน (April) เป็นชื่อของ Aprillis เดือนตามปฏิทินของสาธารณรัฐโรม ถือว่าเป็นนามศักดิ์สิทธิ์ของเทพวีนัส (Venus) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งความรัก และความงาม (หรือดาวพระศุกร์)

  • พฤษภาคม (May) เป็นชื่อของ Maia เทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิของโรม

  • มิถุนายน (June) เป็นชื่อของ Juno เทพธิดาแห่งสตรีและการสมรสของโรม

  • กรกฎาคม (July) เป็นชื่อของ Julius Caesar จักรพรรดิโรม

  • สิงหาคม (August) เป็นชื่อของ Augustus Caesar จักรพรรดิโรม

  • กันยายน (September) เป็นชื่อของเดือนที่ 7 ของปฏิทินโรมโบราณ

  • ตุลาคม (October) เป็นชื่อของเดือนที่ 8 ของปฏิทินโรมโบราณ

  • พฤศจิกายน (November) เป็นชื่อของเดือนที่ 9 ของปฏิทินโรมโบราณ

  • ธันวาคม (December) เป็นชื่อของเดือนที่ 10 ของปฏิทินโรมโบราณ

จะเห็นได้ว่า แม้ชื่อต่าง ๆ ที่เราใช้ ไม่ว่าเป็นวัน หรือเดือน รวมทั้งวันอีสเตอร์ ล้วนมาจากนามของเทพเจ้าต่าง ๆ ในสมัยก่อนที่คริสตศาสนาจะเผยแพร่เข้ามาในอังกฤษและยุโรป

แต่เนื้อหาสาระของวันอีสเตอร์ นี้เป็นความจริง ที่คริสตชนแท้จะไม่มีทางปฏิเสธในการร่วมเฉลิมฉลอง เพราะว่า สาระแท้ของวันอีสเตอร์ คือ การที่พระเยซูคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพบนไม้กางเขน ถูกฝัง และทรงคืนพระชนม์ด้วยชัยชนะ จากนั้นทรงเสด็จสู่สวรรค์ และจะทรงเสด็จกลับมาอีกครั้งด้วยศักดิ์ศรี !

หลักข้อเชื่อของอัครทูต (The Apostles' Creed)


"ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงฤทธิ์ที่สุด

ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และโลก

ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวของพระบิดา

ทรงปฏิสนธ์โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์

ทรงกำเนิดจากมารีย์สาวพรหมจารี

ทรงทนทุกข์ทรมานในสมัยที่ ปอนทิอัส ปิลาต ปกครอง

ทรงถูกตรึงที่กางเขนแล้วมรณา

ทรงถูกบรรจุไว้ในอุโมงค์ เสด็จสู่แดนมรณา

ในวันที่สาม ทรงคืนพระชนม์

พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ ประทับบนเบื้องขวาของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ที่สุด

จากที่นั่น พระองค์จะเสด็จมาพิพากษาคนเป็นและคนตาย

ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์

และเชื่อมั่นในสากลคริสตจักรบริสุทธิ์

ในการร่วมสมานฉันระหว่างธรรมิกชน

การอภัยโทษบาป การที่กายคืนชีพ และสมบูรณ์ชีพนิรันดร์

อาเมน"

"I believe in God the Father Almighty,

Maker of heaven and earth:

And in Jesus Christ His only Son our Lord.

Who was conceived by the Holy Ghost,

Born of the Virgin Mary:

Suffered under Pontius Pilate,

Was crucified, dead, and buried:

He descended into hell;

The third day He rose again from the dead;

He ascended into heaven,

And sitteth on the right hand of God the Father Almighty:

From thence He shall come to judge the quick and the dead.

I believe in the Holy Ghost:

The Holy Catholic Church:

The communion of Saints:

The Forgiveness of sins: Resurrection of the body:

And the life everlasting

Amen."

เรื่อง "อีสเตอร์" (การคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์) นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด จนอัครทูตทั้งหลายต้องบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล หลังจากที่ได้มีการถ่ายทอดความจริงในเรื่องนี้อย่างละเอียดชัดเจน สืบทอดต่อกันมา โดยปากเปล่า

สำหรับ "หลักข้อเชื่ออัครทูต" (The Apostle's Creed) เริ่มส่งต่อกันมาตั้งแต่ราว ๆ ค.ศ. 200 เป็นต้นมา และสาระสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหลักข้อเชื่อนี้ ก็คือ "การคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ หลังจากที่พระองค์ทรงถูกตรึงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพื่อไถ่บาปมวลมนุษย์"

อัครทูตเปาโล ได้ยืนยันความจริงนี้ โดยกล่าถึงพยานบุคคลจำนวนมากที่รู้เห็นในเหตุการณ์นี้ บันทึกไว้ว่า ...

"เรื่องซึ่งข้าพเจ้ารับไว้นั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือว่าพระคริสต์ได้ทรงวายพระชนม์ เพราะบาปของเราทั้งหลาย ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้น พระองค์ทรงปรากฏแก่เคฟาส แล้วแก่อัครทูตสิบสองคน ภายหลัง พระองค์ทรงปรากฏแก่พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว ซึ่งส่วนมากยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่บางคนก็ล่วงหลับไปแล้ว ภายหลังพระองค์ทรงปรากฏแก่ยากอบ แล้วแก่อัครทูตทั้งหมด ครั้งหลังที่สุดพระองค์ทรงปรากฏแก่ข้าพเจ้า ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยที่สุดในพวกอัครทูต และไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นอัครทูต เพราะว่าข้าพเจ้าได้เคี่ยวเข็ญคริสตจักรของพระเจ้า" (1โครินธ์ 15:3-9)

นอกจากนี้ ท่านเปาโลยังตอกย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของ "วันอีสเตอร์" นี้ โดยเปรียบเทียบว่า เป็นประดุจเสาหลัก ของศาสนาคริสต์ทีเดียว นั่นคือ ถ้าเสานี้หักลง ทั้งคริสตศาสนจักรก็จะพลอยล่มสลายลงไปทันที

"ถ้าเราเทศนาว่าพระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาแล้ว เหตุใดพวกท่านบางคนยังกล่าวว่า การฟื้นขึ้นมาจากตายไม่มี ถ้าการฟื้นขึ้นมาจากตายไม่มี พระคริสต์ก็หาได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาไม่ ถ้าพระคริสต์มิได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา การเทศนาของเรานั้นก็ไม่มีหลัก ทั้งความเชื่อของท่านทั้งหลายก็ไม่มีหลักด้วย และก็จะปรากฏว่าเราอ้างพยานเท็จในเรื่องพระเจ้า เพราะเราอ้างพยานว่าพระองค์ได้ทรงชุบพระคริสต์ให้เป็นขึ้นมา แต่ถ้าคนตายไม่ถูกทรงชุบให้เป็นขึ้นมาแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงชุบพระคริสต์ให้เป็นขึ้นมา เพราะว่าถ้าการชุบให้เป็นขึ้นมาไม่มี พระคริสต์ก็ไม่ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์ ท่านก็ยังตกอยู่ในบาปของตน และคนทั้งหลายที่ล่วงหลับในพระคริสต์ก็พินาศไปด้วย ถ้าในชีวิตนี้ พวกเราซึ่งอยู่ในพระคริสต์มีแต่ความหวังเท่านั้น เราก็เป็นพวกที่น่าสังเวชที่สุดในบรรดาคนทั้งปวง แต่ความจริงพระคริสต์ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และทรงเป็นผลแรกในพวกคนทั้งหลายที่ได้ล่วงหลับไปแล้วนั้น" (1โครินธ์ 15:12-20)

ในเมื่อพยานหลักฐานของวันอีสเตอร์มั่นคง และเชื่อถือได้เช่นนี้ อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงชีวิตคนมากมายตลอดประวัติศาสตร์ หากคุณเชื่อมั่นใน หลักข้อเชื่อของอัครทูต (The Apostle's Creed) นี้อย่างจริงใจและจริงจัง ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน !

เหตุผล 10 ประการที่เชื่อว่าอีสเตอร์เป็นเรื่องจริง!

(เอกสารเดิมของ RBC, Grand Rapids,
แปลโดยองค์การเยาวชนไทยเพื่อพระคริสต์
ชื่อเดิมว่า "เหตุผล 10 ประการ ที่เชื่อว่าพระคริสต์ทรงฟื้นขึ้นจากความตาย")

1. การตายต่อหน้าสาธารณชน ยืนยันถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

ในระหว่างเทศกาลปัสกาของพวกยิว ฝูงชนที่โกรธแค้นได้จับกุมพระเยซู และนำพระองค์ไปมอบให้ศาลสูงของโรมัน

เมื่อพระองค์ยืนต่อหน้าปีลาต (ปอนทิอัส ปิลาต ผู้ว่าราชการของโรมประจำยูเดีย ระหว่าง ค.ศ. 23-36 เป็นผู้ที่ออกคำสั่งให้ประหารพระเยซูคริสต์อย่างไม่เต็มใจ เพราะท่านเห็นว่าพระเยซูมิได้กระทำผิดแต่ประการใด) เจ้าเมืองแคว้นยูเดียนั้น ผู้นำศาสนาได้กล่าวหาพระเยซูว่า พระองค์ทรงอ้างตนเป็นกษัตริย์ของพวกยิว

ประชาชนเรียกร้องความตายของพระองค์ พระองค์ทรงถูกเฆี่ยน โบยตี และลงโทษให้ถูกประหารกลางแจ้ง บนภูเขานอกกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนอยู่ระหว่างอาชญากร 2 คน เพื่อนที่จิตใจปวดร้าว และศัตรูที่เยาะเย้ยพระองค์ต่างเฝ้าดูการตายของพระองค์

เมื่อวันสะบาโต (วันสะบาโต คือ วันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดของพวกยิว) ใกล้เข้ามา ทหารโรมันได้รับคำสั่งให้เร่งการประหารนักโทษให้ตาย โดยที่พวกเขาต้องหักขาของอาชญากรทั้งสองคน แต่เมื่อมาถึงพระเยซู พวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะพวกเขารู้ได้จากประสบการณ์ว่า พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจครั้งสุดท้าย พวกเขาแทงหอกเข้าไปที่สีข้างของพระองค์ เพราะพระองค์อาจสร้างปัญหาให้พวกเขาได้อีก หากว่าพระองค์เพียงแค่สลบไป และฟื้นขึ้นมา

2. เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ประทับตราที่อุโมงค์ฝังศพ

วันต่อมา ผู้นำศาสนามาหาปิลาตอีก พวกเขากล่าวว่า พระเยซูทรงทำนายว่าพระองค์จะทรงฟื้นขึ้นมาในวันที่ 3 เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่สามารถคบคิดกันทำการฟื้นคืนพระชนม์เท็จขึ้น ปิลาตจึงสั่งให้ประทับตราของโรมันไว้ที่อุโมงค์ เพื่อเตือนพวกที่คิดจะเจาะอุโมงค์เข้าไป และเพื่อย้ำคำสั่งนี้ ทหารได้เฝ้ายามอยู่หน้าอุโมงค์ ซึ่งสาวกคนใดที่ต้องการจะยุ่งกับพระศพ ยากที่จะผ่านเข้าไปได้ ทหารโรมันเฝ้ายามอยู่อย่างเข้มแข็ง เพราะว่าโทษของการหลับยาม คือความตาย (มัทธิว 27:57-66)

3. แม้ว่ามียาม อุโมงค์ว่างเปล่า

ในตอนเช้าหลังวันสะบาโต สาวกบางคนได้ไปที่อุโมงค์เพื่อจะชโลมพระศพ แต่เมื่อไปถึง พวกเขาต้องแปลกใจในสิ่งที่พบ หินก้อนใหญ่ซึ่งได้ปิดทางเข้าอุโมงค์ได้ถูกเคลื่อนไป และพระศพของพระเยซูก็หายไป

เมื่อเรื่องนี้แพร่ออกไป สาวก 2 คนวิ่งไปยังที่ฝังศพ อุโมงค์ว่างเปล่า พบแต่ผ้าพันพระศพของพระเยซูวางอยู่อย่างเรียบร้อย

ในระหว่างนั้น ทหารยามบางคนได้เข้าไปในกรุงเยรูซาเล็ม และบอกกับเจ้าหน้าที่ยิวว่า พวกเขาหมดสติไปต่อหน้าทูตสวรรค์ที่มากลิ้งหินออก เมื่อพวกเขาตื่นขึ้น อุโมงค์ก็ว่างเปล่า เจ้าหน้าที่จึงจ่ายเงินจำนวนมาก ให้ทหารยามเพื่อให้โกหก และกล่าวว่า พวกสาวกได้ขโมยพระศพไปในตอนที่พวกทหารหลับอยู่ เจ้าหน้าที่ยังยืนยันกับยามว่า ถ้าข่าวเรื่องพระศพหายไปนี้ไปถึงเจ้าเมือง พวกเขาจะช่วยพูดได้ (มัทธิว 28:11-15)

4. หลายคนอ้างว่าได้เห็นพระองค์ทรงพระชนม์อยู่

ประมาณ ค.ศ. 55 อัครทูตเปาโลบันทึกว่า พระคริสต์ ซึ่งเป็นขึ้นจากความตาย ได้ปรากฎแก่เปโตร อัครทูต 12 คน และสาวกกว่า 500 คน (หลายคนยังมีชีวิตอยู่ในเวลาที่ท่านเขียนนั้น) รวมทั้ง ยากอบ และตัวท่านเอง (1โครินธ์ 15:5-8) โดยการกล่าวเปิดเผยเช่นนี้ ท่านให้โอกาสแก่ผู้จับผิดในการตรวจสอบด้วยตนเอง

ยิ่งกว่านั้น พันธสัญญาใหม่ ยังเริ่มต้นประวัติโดยการที่สาวกของพระคริสต์กล่าวว่าพระเยซู

"ครั้นพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานแล้ว ได้ทรงแสดงพระองค์แก่คนพวกนั้นด้วยหลักฐานหลายอย่าง พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และได้ทรงปรากฏแก่เขาทั้งหลายระหว่างสี่สิบวัน และได้ทรงสนทนากับเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า" (กิจการ 1:3)

5. ชีวิตของอัครทูตได้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

เมื่อสาวกใกล้ชิดคนหนึ่งของพระเยซู ละทิ้งและทรยศต่อพระองค์ ส่วนอัครทูตคนอื่น ๆ ต่างหนีเอาชีวิตรอด แม้แต่เปโตรซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยืนยันว่า พร้อมจะตายเพื่ออาจารย์ของตน ก็ยังกลัว และได้ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักกับพระเยซู

แต่พวกอัครทูตกลับได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ภายในไม่กี่สัปดาห์ พวกเขายืนขึ้นต่อหน้าผู้ที่ได้ตรึงกางเขนผู้นำของตน จิตใจของพวกเขาแกร่งเหมือนเหล็ก และกลายเป็นคนที่ไม่มีใครหยุดได้ในความมุมานะที่จะสละทุกสิ่งเพื่อผุ้ที่พวกเขาเรียกว่าองค์พระผู้ช่วยให้รอด และองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้หลังจากที่พวกเขาถูกจำคุก เฆี่ยนตี และห้ามกล่าวในพระนามของพระเยซูอีก

หลังจากที่พวกเขาถูกเฆี่ยน เพราะไม่ได้เชื่อฟังคำสั่งของสภาชาวยิว อัครทูตจึงกล่าวกับผู้นำชาวยิวว่า

"ฝ่ายเปโตรกับอัครทูตอื่นๆตอบว่า 'ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์' " (กิจการ 5:29)

พวกอัครทูตที่ครั้งหนึ่งเคยขลาดกลัวนี้

"ที่ในบริเวณพระวิหารและตามบ้านเรือน เขาได้สั่งสอนและประกาศข่าวประเสริฐทุกๆวันมิได้ขาด ว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์" (กิจการ 5:42)

6. พยานยินดีที่จะตายเพื่อข้ออ้างของตัวเอง

ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยผู้ที่ยอมตายเพื่อความเชื่อ ชายหญิงจำนวนนับไม่ถ้วนยอมตายเพื่อความเชื่อของตน ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าสาวกยุคแรกเต็มใจทนทุกข์ และตายเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ แต่สิ่งที่ควรเน้น คือ มีคนมากมายที่เต็มใจตายเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นความจริง

คงไม่มีใครอยากตายเพื่อคำหลอกลวง ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยานั้นสำคัญ เพราะว่าสาวกของพระคริสต์ไม่ได้ตายเพื่อความเชื่อที่ยึดถือกันมาอย่างมั่นคง พวกเขาตายเพื่อยืนยันข้ออ้างที่ว่าได้เห็นพระเยซูทรงพระชนม์อยู่ และเป็นปกติดีภายหลังจากการเป็นขึ้นจากความตาย

พวกเขาตายเพื่อข้ออ้างของเขาว่า พระเยซูคริสต์ไม่เพียงแต่ตายเพื่อความบาปของพวกเขา แต่ว่าพระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตายทางพระกาย เพื่อแสดงว่า พระองค์ไม่ทรงเหมือนผู้นำศาสนาคนใด ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่

7. ผู้เชื่อชาวยิวได้เปลี่ยนวันนมัสการ

วันสะบาโต เพื่อการพักผ่อน และการนมัสการนั้น ถือเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตของชาวยิว ยิวคนใดที่ไม่ได้ถือวันสะบาโต มีความผิดต่อบัญญัติของโมเสส แต่ชาวยิวผู้ติดตามพระคริสต์ เริ่มนมัสการกับผู้เชื่อชาวต่างชาติในวันใหม่ คือวันแรกของสัปดาห์ (วันอาทิตย์) วันซึ่งพวกเขาว่าพระคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย แทนที่วันสะบาโต (วันเสาร์)

"เรื่องการเรี่ยไรเพื่อช่วยธรรมิกชนนั้น ข้าพเจ้าได้สั่งคริสตจักรที่แคว้นกาลาเทียว่าอย่างไร ก็ขอให้ท่านจงกระทำเหมือนกันด้วย ทุกวันต้นสัปดาห์ ให้พวกท่านทุกคนเก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้รับไว้บ้าง เพื่อจะไม่ต้องเก็บเรี่ยไรเมื่อข้าพเจ้ามา เมื่อข้าพเจ้ามาถึงแล้ว พวกท่านเห็นชอบจะเลือกผู้ใด ข้าพเจ้าจะใช้ผู้นั้นถือหนังสือและเงินถวายของท่านไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และถ้าสมควรข้าพเจ้าจะไปด้วย คนเหล่านั้นก็จะไปพร้อมกับข้าพเจ้า" (1โครินธ์ 16:1-4)

สำหรับชาวยิวแล้ว นั่นเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต วันใหม่ และพิธีบัพติสมา สำหรับการกลับใจแบบคริสเตียน เป็นการประกาศว่า พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตายนั้น พวกเขาเชื่อว่า ความตาย การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ ได้เปิดทางสู่ความสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า วิถีทางใหม่นี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนธรรมบัญญัติ แต่ตั้งอยู่บนความช่วยเหลือในการยกโทษบาปและการประทานชีวิตของพระผู้ช่วยให้รอด

8. แม้ว่าเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึง แต่ก็ถูกทำนายไว้อย่างชัดเจน

พวกสาวกไม่ทันตั้งตัว พวกเขามัวคิดว่า พระเมสสิยาห์จะทรงตั้งอาณาจักรของอิสราเอล ความคิดของพวกเขามุ่งที่แผ่นดินทางการเมืองของพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมา จนพวกเขาไม่ได้คาดถึงเหตการณ์ที่สำคัญต่อความรอดของจิตวิญญาณ พวกเขาคงจะคิดว่าพระคริสต์ทรงตรัสเป็นการเปรียบเทียบ เมื่อพระองค์ตรัสซ้ำ ๆ ถึงความจำเป็นที่พระองค์ต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อสิ้นพระชนม์ และเป็นขึ้นจากความตาย พวกเขาได้พลาดจากสิ่งที่ชัดเจน จนกระทั่ง เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เพราะว่าพระองค์ตรัสเป็นคำอุปมา

ในระหว่างนั้น พวกเขาก็มองข้ามคำของผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ ที่ทำนายถึงผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ ซึ่งจะแบกความบาปของอิสราเอล ผู้ทรงถูกนำไปประหารเหมือนกับแกะก่อนที่พระเจ้าทรงยืดวันทั้งหลายของท่าน

"แต่ก็ยังเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะให้ท่านฟกช้ำ ด้วยความเจ็บไข้ เมื่อพระองค์ทรงกระทำให้วิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป ท่านจะเห็นพงศ์พันธุ์ของท่าน ท่านจะยืดวันทั้งหลายของท่าน น้ำพระทัยของพระเจ้าจะเจริญขึ้นในมือของท่าน" (อิสยาห์ 53:10)

9. เป็นจุดสุดยอดของชีวิตที่อัศจรรย์

ขณะที่พระเยซูถูกตรึงไว้บนกางเขนนั้น ฝูงชนเยาะเย้ยพระองค์ว่า พระองค์ช่วยคนอื่นได้ แต่จะทรงช่วยตนเองได้หรือ ? การอัศจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้วหรือ ?

ดูเหมือนเป็นการสิ้นสุดลงอย่างไม่คาดฝันของผุ้ที่เริ่มต้นชีวิตต่อหน้าสาธารณชน การเปลี่ยนน้ำธรรมดาให้เป็นเหล้าองุ่น

ตลอดสามปีในการรับใช้ พระองค์ทรงเดินบนน้ำ รักษาคนเจ็บป่วย เปิดตาคนตาบอด รักษาคนหูหนวก และเป็นใบ้ คนง่อย ขับผี ห้ามลมพายุให้สงบ และเรียกคนตายให้ฟื้น

พระองค์ทรงถามคำถามซึ่งปราชญ์ตอบไม่ได้ พระองค์ทรงสอนความจริงที่ลึกซึ้งด้วยการเปรียบเทียบที่ง่ายที่สุด และพระองค์ทรงเผชิญหน้าคนหน้าซื่อใจคด ด้วยถ้อยคำที่เปิดเผยความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา

ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความจริง เราจะแปลกใจอย่างนั้นหรือ เมื่อศัตรูพระองค์ไม่ได้เป็นฝ่ายชนะ ?

"แต่มีหลายคนที่เป็นคนต้น จะต้องกลับไปเป็นคนสุดท้าย และที่เป็นคนสุดท้ายจะกลับเป็นคนต้น" (มัทธิว 19:30)

"เมื่อพระเยซูจะเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ก็พาเหล่าสาวกสิบสองคนไปแต่ลำพัง และตรัสกับเขาตามทางว่า “เราทั้งหลายจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และเขาจะมอบบุตรมนุษย์ไว้กับพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ และเขาเหล่านั้นจะปรับโทษท่านถึงตาย และจะมอบท่านไว้กับคนต่างชาติให้เยาะเย้ยเฆี่ยนตี และให้ตรึงไว้ที่กางเขน และวันที่สาม ท่านจึงจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่” " (มัทธิว 20:17-19)

10. สอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้ที่วางใจในพระองค์

อัครทูตเปาโล เขียนว่า

"ถ้าพระวิญญาณของพระองค์ ผู้ทรงชุบให้พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ทรงสถิตอยู่ในท่านทั้งหลาย พระองค์ผู้ทรงชุบให้พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตายแล้วนั้น จะทรงกระทำให้กายซึ่งต้องตายของท่าน เป็นขึ้นมาใหม่ โดยเดชแห่งพระวิญญาณของพระองค์ซึ่งทรงสถิตอยู่ในท่านทั้งหลาย " (โรม 8:11)

นี่เป็นประสบการณ์ของเปาโล และของผู้คนทั่วโลก ผู้ได้ "ตาย" ต่อชีวิตเก่า เพื่อว่าพระคริสต์จะทรงสามารถดำเนินพระชนม์ชีพของพระองค์ผ่านพวกเขา

ผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ แต่ไม่ทิ้งชีวิตเก่า จะไม่ได้สัมผัสฤทธิ์อำนาจฝ่ายวิญญาณ แต่หากผู้นั้นเต็มใจ "ตาย" ต่อชีวิตเก่าของตน พระคริสต์ ก็จะเข้าครอบครองชีวิตเขา สิ่งนี้ปรากฎชัดเจนเฉพาะผู้ที่ตอบสนองต่อหลักฐานอันมากมายแห่งการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ โดยยอมรับความเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ในหัวใจของพวกเขา

ไม่ใช่คุณคนเดียว

ถ้าคุณพบว่าตัวเองยังไม่แน่ใจว่า พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตายจริงหรือไม่ ขอคุณระลึกว่า พระเยซูทรงสัญญาถึงความช่วยเหลือของพระองค์ต่อผู้ที่ต้องการคืนดีกับพระเจ้า

พระองค์ทรงตรัสว่า

"ถ้าผู้ใดตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ ผู้นั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนั้นมาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบของเราเอง" (ยอหร์น 7:17)

ถ้าคุณเห็นการเป็นขึ้นจากความตายเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ขอระลึกถึงพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า

"คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด ด้วยว่า ความเชื่อด้วยใจก็นำไปสู่ความชอบธรรม และการยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด" (โรม 10:9-10)

ความรอด ซึ่งพระคริสต์ให้นั้น ไม่ใช่รางวัลของความพยายาม แต่เป็นของประทานให้แก่ผู้ที่ได้วางใจในพระองค์ เนื่องจากหลักฐานเหล่านี้ !

ศัพท์ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับอีสเตอร์

1. วันปาล์มซันเดย์ (Palm Sunday)

เป็นวันที่พระเยซูคริสต์เสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม ในวันอาทิตย์ ก่อนวันอีสเตอร์ เป็นวันที่ฝูงชนต่างโห่ร้อง นำผ้ามาปู ชูใบปาล์มต้อนรับพระองค์ เคารพชื่นชม โดยเชื่อมั่นว่า พระเยซูคริสต์ คือ พระเมสสิยาห์ หรือผู้ทรงช่วยชนชาติยิวให้รอด !

2. วันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday)

เป็นวันที่พระเยซูคริสต์ ถูกปฏิเสธ และถูกตรึงบนไม้กางเขน ทั้ง ๆ ที่พระองค์มิได้เป็นพิษแก่ใคร นอกจากนักศาสนา และนักการเมืองที่กำลังสั่นสะเทือนผลประโยชน์ แต่การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ กลับเป็นการชดใช้หนี้บาปแทนมนุษย์ทุกคน

3. วันอีสเตอร์ (Easter)

เป็นวันฉลองการที่พระเยซูคริสต์ทรงพิชิตความตาย และเป็นขึ้นมาจากความตาย ในรุ่งอรุณของวันอาทิตย์ และได้ทรงพิสูจน์พระองค์เองแก่เหล่าสาวกและคนอีกมากมาย

อีสเตอร์นี้ จะเปลี่ยนไปในแต่ละปี เพราะผู้นำคริสตจักรในปี ค.ศ. 325 ใช้ปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งยึดการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์เป็นหลัก

วันอีสเตอร์ คือ วันอาทิตย์แรก หลังจากวันเพ็ญแรก หรือ หลังจากวันที่ 21 มีนาคม

ดังนั้น วันอีสเตอร์ จะอยู่ในช่วงระหว่าง 22 มีนาคม และ 25 เมษายนเสมอ

4. วันเสด็จกลับมาครั้งที่สอง (Second Coming)

เป็นวันที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เสด็จมาครั้งแรกในวันคริสต์มาสเมื่อสองพันปีก่อน เพื่อรับการตรึงตายไถ่บาปมนุษย์ และเป็น่ขึ้นมาในวันที่สาม จากนั้นเสด็จสู่สวรรค์ รอจนกระทั่งคนมากหลายได้กลับใจเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพระองค์ จากนั้นพระองค์จะเสด็จกลับมารับผู้ที่เชื่อในพระองค์ กลับไปอยู่กับพระองค์นิรันดร์

5. ปัสกา (Passover)

เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวยิว ที่ระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงช่วยพวกเขาให้รอดจากภัยของทูตมรณะในอียิปต์ และเริ่มต้นเป็นชนชาติใหม่ ดังที่บันทึกไว้ใน พระธรรมอพยพ และเฉลิมฉลองกันในวันเพ็ญแรก หลังจาก "วสันตวิษุสวัต"

6. วันวสันตวิษุสวัต (The Vernal Equinox)

วันที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากัน (คำว่า Equinox แปลว่า "equal night") ซึ่งโดยปกติแล้ว จะตรงกับราว ๆ วันที่ 20-22 มีนาคม ของปฏิทินในปัจจุบัน (แต่ทั่วไปยึดถือวันที่ 21)

7. ไข่อีสเตอร์ (Easter Eggs)

การหา "ไข่อีสเตอร์" กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สนุกสนาน เคียงคู่ไปกับการฉลองวันอีสเตอร์อย่างยากจะตัดทิ้ง ทั้ง ๆ ที่ "ไข่" ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวันอีสเตอร์แรกเลย !

แรกเริ่มที่ "ไข่" ในยุโรปสมัยโบราณ หมายถึง "ชีวิตหรือชีวิตใหม่" หรือ "ความอุดมสมบูรณ์ที่กลับมาอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ"

ชาวยุโรปเคยใช้ไข่โยนกลิ้งไปตามท้องทุ่ง เพื่อบนบานให้ทุ่งนาของตนเกิดผลผลิตอย่างสมบูรณ์

เมื่อคริสตศาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรป และเกิดการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ขึ้น จึงได้มีการนำเรื่องไข่มาผสมโรงด้วย

ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวอียิปต์ และเปอร์เซีย นำไข่มาทาสี และมอบให้เป็นของขวัญแก่เพื่อน ๆ ในเวลาต่อมา คริสเตียนในตะวันออกกลาง เป็นพวกแรกที่ใช้ประเพณีการทาสีนี้มาเป็นส่วนฉลองอีสเตอร์ของพวกตน

ในสมัยใหม่นี้ มีการนำไข่จากช็อกโกแลต หรือ ทำไข่พลาสติกที่บรรจุขนมหวานไว้ข้างใน และมีการเอาไข่ต้มมาทาสี หรือ ไข่พลาสติกสีสันต่าง ๆ ไปซ่อนให้เด็กค้นหา โดยมีความหมายแฝงเร้นอยู่ว่า อีสเตอร์ คือ วันที่พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย และเสด็จออกจากอุโมงค์ที่ศิลาปิดปากถูกเปิดออก ดุจดังที่ลูกไก่ได้เจาะเปลือกไข่ออกมาเป็นตัว !

8. กระต่ายอีสเตอร์ (Easter Bunny)

ก็เช่นเดียวกับ "ไข่" เพียงแต่กระต่ายนั้นดูจเป็นสัญลักษณ์ของ "ชีวิตใหม่" ที่ออกลูกดกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าการเน้น "การเป็นขึ้นจากความตาย"

ตามความเชื่อโบราณของคนอียิปต์ ถือว่า กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของ "ดวงจันทร์" ประกอบกับยึดเอาปฏิทินจันทรคติเป็นตัวกำหนดวันอีสเตอร์ในแต่ละปี กระต่ายจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของอีสเตอร์ไป

ส่วนตำนานที่สมัยใหม่หน่อย เกี่ยวกับกระต่ายมีดังนี้

ผู้หญิงคนหนึ่ง ซ่อนไข่อีสเตอร์ไว้สำหรับลูก ๆ ในช่วงกันดารอาหาร ในขณะที่เด็ก ๆ พบไข่นั้น มีกระต่ายตัวใหญ่กระโดดหนีออกไป พวกเขาก็เลยคิดว่า กระต่ายเป็นผู้นำเอาไข่มาให้ กระต่ายจึงมาเกี่ยวข้องกับไข่ด้วยประการฉะนี้

อ. ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
จากหนังสือ อีสเตอร์ ความจริงที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com