บทบาทของอิสราเอลในแผนการสำแดงของพระเจ้า
หลักการที่ 1: พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เอง เพื่อเราจะสามารถรู้จักพระองค์ได้
บทบาทของอิสราเอลในแผนการไถ่ของพระเจ้า
หลักการที่ 2: พระเจ้าทรงไถ่โลก เพื่อเราจะสามารถอยู่กับพระองค์ได้
เราสามารถเข้าใจแผนการของพระเจ้า
ผ่านทางเรื่องราวของชนชาติอิสราเอล
สวัสดีครับ พี่น้องในพระคริสต์ทุกท่าน
ผมหวังว่า พี่น้องจะสบายดีนะครับ คราวก่อนเราได้ตระหนักถึงสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ และคุณค่าของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมแล้ว คราวนี้เราจะได้เห็นภาพรวมของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ตั้งแต่พระธรรมปฐมกาลจนถึงพระธรรมมาลาคีครับ
ผมเห็นโฆษณาชิ้นหนึ่ง ซึ่งขายโปรแกรมท่องเที่ยวทวีปยุโรป 8 วัน 5 คืน ใน 5 ประเทศ หากดูผิวเผินก็ดูเหมือนจะคุ้มค่า แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว เราจะพบว่า มีเวลาน้อยมากในการเยี่ยมชมแต่ละสถานที่
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “ชะโงกทัวร์” ครับ หลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาก่อน แม้ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติในพจนานุกรม แต่เป็นที่รู้กันดีว่า “ชะโงกทัวร์” หมายถึง ทัวร์ราคาประหยัด ซึ่งจัดโปรแกรมท่องเที่ยวในสถานที่มากมาย ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ดังนั้น ในการเยี่ยมชมแต่ละที่จึงทำได้เพียงชะโงกดู ชั่วครู่ก็ต้องไปที่อื่น
การศึกษาพระคัมภีร์วันนี้ มีลักษณะคล้ายกับ “ชะโงกทัวร์” ครับ ผมขออนุญาตเป็นมัคคุเทศก์พาพี่น้องท่องเที่ยวพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมทั้งเล่ม เพื่อค้นหาคำตอบด้วยกันว่า การศึกษาเรื่องราวของอิสราเอลมีความสำคัญอย่างไร? เราได้เรียนรู้อะไร? และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
บทเรียนวันนี้ สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่
ในพระธรรมปฐมกาล พระเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวา ทั้งคู่ได้ดูแลสวนเอเดน และใช้เวลากับพระองค์ พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองในฐานะพระผู้สร้าง
แต่แล้ว สิ่งเลวร้ายก็เกิดขึ้น เมื่ออาดัมและเอวาฝ่าฝืนพระบัญชาของพระเจ้า ซึ่งห้ามไม่ให้พวกเขากินผลจากต้นแห่งการรู้ดีรู้ชั่ว พระองค์จึงทรงขับไล่พวกเขาออกจากสวน พร้อมทั้งประทานหนทางแห่งการไถ่ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 3 ข้อ 15 พระเจ้าตรัสแก่ซาตานว่า
“เราจะให้เจ้ากับหญิงนั้น เป็นศัตรูกัน ทั้งเผ่าพันธุ์ของเจ้ากับของนางด้วย เขาจะฟาดศีรษะของเจ้า และเจ้าจะฉกส้นเท้าของเขา” (ปฐมกาล 3:15)
ในขณะที่ประชากรของพระเจ้ากบฏต่อพระองค์ พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองในฐานะพระผู้ไถ่
ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 12 พระเจ้าทรงเรียกชายคนหนึ่งชื่อว่า อับราม เพื่อให้เขาไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา คือ คานาอัน พร้อมกับประทานพระสัญญาแก่เขาว่า
“เราจะทำให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ และเราจะอวยพรเจ้า เราจะทำให้ชื่อเสียงของเจ้าเลื่องลือ และเจ้าจะเป็นพร เราจะอวยพรบรรดาผู้ที่อวยพรเจ้า และเราจะสาปแช่งบรรดาผู้ที่แช่งเจ้า ทุกชนชาติทั่วโลก จะได้รับพรผ่านทางเจ้า” (ปฐมกาล 12:2-3)
ต่อมา พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราม ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 15 และบทที่ 17 ซึ่งยืนยันถึงพระสัญญาในบทที่ 12 ว่า พระองค์จะประทานดินแดนแก่ลูกหลานของอับราม พร้อมกับประทานพระสัญญาว่า พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของเขา พระองค์ทรงเปลี่ยนชื่ออับราม เป็นอับราฮัม พันธสัญญาดังกล่าวจึงเรียกว่า “พันธสัญญากับอับราฮัม” ซึ่งเป็นพันธสัญญาแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พระเจ้าจะประทานดินแดนแก่อับราฮัม
พระธรรมปฐมกาลดำเนินเรื่องต่อไปตามลำดับ นับจากอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ในบทที่ 32 ส่วนที่สอง เป็นเรื่องราวของยาโคบปล้ำสู้กับบุรุษผู้หนึ่ง ในเหตุการณ์นี้ พระเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อยาโคบเป็นอิสราเอล ซึ่งแปลว่า “เขาปล้ำสู้กับพระเจ้า” และทรงอวยพรเขาที่นั่น ครอบครัวของยาโคบได้กลายเป็นต้นกำเนิดของชนชาติอิสราเอล
บุตรชายคนหนึ่งของยาโคบที่ชื่อ โยเซฟ ถูกพวกพี่ชายขายเป็นทาส และถูกนำตัวไปยังอียิปต์ โดยการอวยพรของพระเจ้า โยเซฟจึงได้ปกครองดูแลทั่วแผ่นดินอียิปต์ เขากลายเป็นผู้มีอำนาจรองจากฟาโรห์ เขาได้พาครอบครัวจากคานาอัน มาที่อียิปต์ เพื่อช่วยครอบครัวให้พ้นจากการกันดารอาหาร วงศ์วานของยาโคบกลายเป็นชนชาติใหญ่ในดินแดนนั้น เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์จึงบีบบังคับชาวอิสราเอลให้เป็นทาส เพราะกลัวพวกเขากบฏ
ในพระธรรมอพยพ พระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์มากเกินกว่าที่จะทรงปล่อยให้ความชั่วร้ายได้รับชัยชนะ พระองค์จึงทรงใช้โมเสสให้นำชาวอิสราเอลกลับไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา พระองค์ทรงรักษาพระสัญญาที่ได้ประทานแก่อับราฮัม โดยทรงทำให้พระสัญญานั้นสำเร็จผ่านทางโมเสส หลังจากการเจรจาครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างโมเสสกับอาโรน และฟาโรห์ พร้อมกับการเกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด โมเสสก็นำชาวอิสราเอลจำนวนมากข้ามทะเลแดงไปได้อย่างอัศจรรย์ พวกเขาเดินทางไปยังถิ่นทุรกันดาร
อิสราเอลกบฏต่อพระเจ้าหลายครั้งหลายหน ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับพระพิโรธ และลงเอยด้วยการใช้ชีวิตและเดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปี ก่อนที่พวกเขาจะได้เข้าสู่คานาอัน
ช่วงเวลานี้เองที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของอิสราเอลในแผนการสำแดงของพระเจ้า กล่าวคือ การรับและการประกาศการสำแดงของพระองค์
พระเจ้าทรงเลือกชนชาติอิสราเอลให้เป็นตัวแทนของพระองค์
พระเจ้าตรัสแก่ชาวอิสราเอลผ่านทางโมเสสว่า
“บัดนี้หากเจ้าทั้งหลายเชื่อฟังเราอย่างหมดใจและรักษาพันธสัญญาของเรา เจ้าก็จะเป็นกรรมสิทธิ์ล้ำค่าของเราจากประชาชาติทั้งปวงทั่วโลก ถึงแม้ทั้งโลกนี้เป็นของเรา แต่เจ้าจะเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิตและเป็นชนชาติที่บริสุทธิ์สำหรับเรา ...” (อพยพ 19:5-6)
พระเจ้าทรงเลือกชนชาติอิสราเอลให้รับ บันทึก และประกาศการสำแดงของพระองค์เพื่อคนรุ่นหลัง โมเสสกล่าวกับชนชาติอิสราเอลว่า
“ดูเถิด ข้าพเจ้าได้สอนกฎหมายและบทบัญญัติ ... จงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อแสดงให้ประชาชาติทั้งหลายเห็นถึงสติปัญญาและความเข้าใจของท่าน ...” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:5-6)
“จงให้บทบัญญัติทั้งปวงซึ่งข้าพเจ้าแจ้งท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน จงพร่ำสอนบทบัญญัติเหล่านี้แก่บุตรหลานของท่าน จงพูดถึงบทบัญญัติเหล่านี้ ...” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6-8)
แผนการของพระเจ้าสำหรับชาวอิสราเอลจึงรวมถึงการรับและการประกาศพระวจนะของพระองค์ด้วย
ในถิ่นทุรกันดาร พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับชาวอิสราเอล พันธสัญญานี้ เรียกว่า พันธสัญญากับโมเสส ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่มีเงื่อนไข ชาวอิสราเอลได้รับพระบัญชาให้รักษาพระบัญญัติ ถ้าพวกเขาทำตาม พระเจ้าจะทรงอวยพรให้พวกเขาเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินแห่งพระสัญญา แต่ถ้าพวกเขาไม่ทำตาม พระเจ้าจะทรงนำพวกเขาออกไปจากแผ่นดินนั้น
ชาวอิสราเอลเดินทางเข้าสู่คานาอันโดยการนำของโยชูวา และได้ครอบครองแผ่นดินสำเร็จ
แต่ในพระธรรมผู้วินิจฉัย เราจะพบว่า ชาวอิสราเอลไม่ทำตามพันธสัญญา พวกเขาจึงถูกชนชาติที่อยู่ใกล้เคียงกดขี่ข่มเหง แต่พระเจ้าไม่ได้ทรงทอดทิ้งพวกเขา ทุกครั้งที่พวกเขาร้องหาพระองค์ พระองค์ทรงรับฟัง และประทานผู้วินิจฉัยแก่พวกเขา เพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหง
หลังจากยุคของผู้วินิจฉัย พระเจ้าทรงใช้ซามูเอลเพื่อทำให้ใจของอิสราเอลกลับมาหาพระองค์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บุตรชายของซามูเอลไม่ได้สัตย์ซื่อเหมือนที่เขาเป็น ในที่สุด ชาวอิสราเอลจึงขอให้ซามูเอลแต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นมา ซึ่งเป็นการปฏิเสธพระเจ้าโดยตรง
พระเจ้าทรงให้ซามูเอลเตือนประชาชนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หากพวกเขามีกษัตริย์ปกครอง แต่พวกเขายืนกรานเหมือนเดิม พระเจ้าจึงทรงบัญชาให้ซามูเอลแต่งตั้งซาอูลจากเผ่าเบนยามินเป็นกษัตริย์องค์แรก
ซาอูลไม่ทรงเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงแต่งตั้งดาวิดจากเผ่ายูดาห์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนซาอูล ดาวิดทรงเป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้า ดาวิดทรงนำอิสราเอลกลับมาหาพระเจ้า สิ่งที่ดาวิดทรงแตกต่างจากซาอูลอย่างชัดเจน คือ เมื่อดาวิดทรงทำบาป นอกจากพระองค์จะทรงเสียพระทัยแล้ว พระองค์ยังทรงกลับพระทัย และทรงแสวงหาการอภัยจากพระเจ้าด้วยสุดพระทัยของพระองค์
ดาวิดทรงเขียนบทเพลงสรรเสริญหลายบทในพระธรรมสดุดี ในช่วงพระชนม์ชีพของดาวิดแสดงให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อประชากรของพระองค์ พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับดาวิดว่า บัลลังก์ของดาวิดจะยั่งยืนเป็นนิตย์ และพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาจากเชื้อสายของดาวิด ซึ่งเป็นพันธสัญญาแบบไม่มีเงื่อนไขที่พระเจ้าทรงทำกับดาวิดและเชื้อสายของพระองค์
ดาวิดทรงต้องการที่จะสร้างพระวิหาร อย่างไรก็ตาม พระเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่ได้ทรงสัญญาว่า โซโลมอนพระราชโอรสของพระองค์จะสร้างพระวิหารนี้
โซโลมอนทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของอิสราเอล เมื่อพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองแก่โซโลมอน โซโลมอนทรงทูลขอสติปัญญาสำหรับการปกครองประชากรของพระองค์ พระเจ้าทรงพอพระทัยที่โซโลมอนทูลขอเช่นนี้ โซโลมอนทรงเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญามากที่สุดในสมัยนั้น พระองค์ทรงสร้างพระวิหารเพื่อพระเจ้า และทรงเขียนพระธรรมสุภาษิต พระธรรมปัญญาจารย์ และพระธรรมเพลงโซโลมอน
อย่างไรก็ตาม โซโลมอนทรงมีมเหสีและนางสนมมากมาย หญิงเหล่านี้ทำให้พระทัยของโซโลมอนหันไปจากพระเจ้า แล้วไปนมัสการรูปเคารพและติดตามพระอื่น ๆ
องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสกับโซโลมอนว่า
“… เนื่องจากเจ้ามีท่าทีเช่นนี้และไม่ได้รักษาพันธสัญญาและกฎหมายซึ่งเราได้สั่งเจ้าไว้ เราจะฉีกอาณาจักรของเจ้าอย่างแน่นอนที่สุด และแบ่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของเจ้า แต่เพื่อเห็นแก่ดาวิดราชบิดาของเจ้า เราจะยังไม่ทำเช่นนั้นในชั่วชีวิตของเจ้า เราจะริบอาณาจักรจากบุตรชายของเจ้า แต่เราจะไม่ริบไปหมดทั้งอาณาจักร เราจะเหลือชนเผ่าหนึ่งไว้ให้ เพราะเห็นแก่ดาวิดผู้รับใช้ของเรา และเยรูซาเล็มที่เราได้เลือกสรรไว้” (1 พงศ์กษัตริย์ 11:11-13)
ในจุดจบที่น่าสลดใจของราชวงศ์โซโลมอน เรายังคงเห็นความสัตย์ซื่อของพระเจ้า พระองค์ทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญากับดาวิด และในที่สุดอิสราเอลก็แตกแยกเป็นสองอาณาจักร
พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองแก่คุณอย่างไรในวันนี้? พระองค์อาจทรงใช้ถ้อยคำของเพื่อน หรือธรรมชาติอันงดงามในการนำให้คุณมารู้จักพระองค์ สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจได้ คือ พระองค์ทรงกำลังสำแดงพระองค์เอง และพระองค์ทรงต้องการให้คุณรู้จักพระองค์ ซึ่งไม่ใช่การรู้จักพระองค์เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่เป็นการมีประสบการณ์อันลึกซึ้งในการพึ่งพาและวางใจในพระองค์ แม้ในสถานการณ์ที่เรามองไม่เห็นทางออก พระเจ้าทรงกำลังเรียกเราให้มารู้จักพระองค์
หลังจากกษัตริย์โซโลมอนสิ้นพระชนม์ เรโหโบอัมพระราชโอรสก็ขึ้นครองราชย์แทน อาณาจักรได้ถูกแบ่งแยกตามที่พระเจ้าตรัสไว้แก่โซโลมอน กล่าวคือ เยโรโบอัมผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของโซโลมอนทรงปกครองสิบเผ่า ซึ่งรวมกันเรียกว่า อิสราเอล และเรโหโบอัมทรงปกครองสองเผ่า ซึ่งเรียกว่า ยูดาห์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชนชาติอิสราเอลก็แตกแยกเป็นสองอาณาจักร นับเป็นยุคมืดของประวัติศาสตร์อิสราเอล กษัตริย์หลายองค์ต่อจากนั้นก็ทรงกระทำสิ่งชั่วร้ายตามกษัตริย์ก่อนหน้า คือ นมัสการรูปเคารพ และมีพระทัยออกห่างจากพระเจ้า แต่ก็ยังมีกษัตริย์บางองค์ที่ทรงนำผู้คนกลับมาหาพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ตลอดยุคมืดดังกล่าว เรายังคงเห็นความสัตย์ซื่อของพระเจ้าต่อประชากรที่ไม่สัตย์ซื่อของพระองค์อย่างชัดเจน
ผู้เผยพระวจนะ คือ บุคคลที่พระเจ้าทรงส่งให้ไปประกาศพระวจนะของพระองค์ พระองค์ทรงใช้ผู้เผยพระวจนะให้ไปเตือนถึงบาป และนำผู้คนให้กลับมาหาพระองค์ หลายครั้ง ผู้เผยพระวจนะถูกปฏิเสธ แต่บางครั้ง ถ้อยคำของพวกเขาก็ได้รับการยอมรับ และนำมาซึ่งการฟื้นฟูในแผ่นดิน อย่างเช่นผู้เผยพระวจนะที่รับใช้พระเจ้าในรัชสมัยของเฮเซคียาห์
เวลานั้น อัสซีเรียข่มขู่ว่า จะเข้ายึดครองยูดาห์ แต่อิสยาห์ได้นำพระวจนะของพระเจ้ามายังข้าราชบริพารของเฮเซคียาห์ เพื่อยืนยันว่า อัสซีเรียจะไม่สามารถเข้ายึดครองยูดาห์ได้ และก็เป็นเช่นนั้นจริง
น่าเศร้าใจที่ไม่ใช่กษัตริย์ทุกองค์จะทรงกระทำตามอย่างเฮเซคียาห์ การปฏิเสธพระเจ้าของกษัตริย์เหล่านั้นนำไปสู่การตกเป็นเชลยของทั้งสองอาณาจักร คือ อิสราเอลตกเป็นเชลยของอัสซีเรีย ส่วนยูดาห์ตกเป็นเชลยของบาบิโลน
แม้ในช่วงเวลาที่ตกเป็นเชลยอยู่นั้น พระเจ้าก็ยังประทานความหวังว่า ชนชาติที่พระองค์ทรงรักจะยังคงหลงเหลืออยู่ และทรงสำแดงแผนการสูงสุดของพระองค์ คือ แผนการไถ่ผ่านทางพระเมสสิยาห์
ความหวังประการแรก คือ การรวมประเทศของชนชาติอิสราเอล
พระเจ้าตรัสในพระธรรมอิสยาห์บทที่ 43 ว่า
“... อย่ากลัวเลย เพราะเราได้ไถ่เจ้าไว้แล้ว เราได้เรียกชื่อเจ้า เจ้าเป็นของเรา ... อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า เราจะนำลูกหลานของเจ้ามาจากตะวันออก และรวบรวมเจ้ามาจากตะวันตก” (อิสยาห์ 43:1, 5)
ไม่เพียงแต่การรวมประเทศอิสราเอลเท่านั้น พระเจ้ายังประทานความหวังเรื่องการไถ่และความรอดด้วย โดยพระองค์ได้ประทานพันธสัญญาใหม่แก่พวกเขาในพระธรรมเยเรมีย์ว่า
“นี่คือพันธสัญญาที่เราจะทำกับพงศ์พันธุ์อิสราเอล ... เราจะใส่บทบัญญัติของเราในจิตใจของพวกเขา จารึกบนหัวใจของพวกเขา เราจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา และพวกเขาจะเป็นประชากรของเรา ... เราจะอภัยความชั่วร้ายของเขา และจะไม่จดจำบาปทั้งหลายของเขาอีกต่อไป” (เยเรมีย์ 31:33-34)
ไม่ใช่แค่ชาวยิวเท่านั้นที่จะได้รับความรอด แต่คนต่างชาติก็จะได้รับความรอดเช่นกัน
พระเจ้าตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า
“... เราจะรวบรวมคนอื่นมารวมกับพวกเขา นอกเหนือจากคนที่รวมกันอยู่แล้ว” (อิสยาห์ 56:8)
พระเจ้าจะทรงนำคนต่างชาติกลับมาหาพระองค์ เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำกับชาวยิว พระองค์จะทรงรวบรวมคนต่างชาติอย่างไร? พระเจ้าตรัสว่า
“นี่คือผู้รับใช้ของเรา ซึ่งเราเชิดชู ผู้ที่เราเลือกสรรไว้ ซึ่งเราชื่นชม เราจะส่งวิญญาณของเราลงมาเหนือเขา และเขาจะนำความยุติธรรมไปถึงบรรดาประชาชาติ” (อิสยาห์ 42:1)
“เป็นการเล็กน้อยเกินไปที่จะให้เจ้าเป็นผู้รับใช้ของเรา ... เราจะให้เจ้าเป็นแสงสว่างสำหรับชนต่างชาติด้วย เพื่อเจ้าจะนำความรอดของเราไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก” (อิสยาห์ 49:6)
ผู้รับใช้ที่กล่าวถึงในพระธรรมข้อเหล่านี้ คือ พระเมสสิยาห์
ดังนั้น บทบาทของอิสราเอลในแผนการของพระเจ้าจึงสำคัญสำหรับผู้เชื่อในทุกวันนี้ เพราะผู้คนทั่วโลกได้รับความรอดผ่านทางพระเมสสิยาห์ ผู้รับใช้ที่ผู้เผยพระวจนะพยากรณ์ไว้ว่า จะช่วยโลกให้รอดพ้นจากบาป
การอยู่กับพระเจ้ามีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ? ถ้าคุณวางใจในพระเมสสิยาห์สำหรับความรอดแล้ว พระเจ้าก็ทรงอยู่กับคุณ ความจริงนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณอย่างไร?
เราสามารถเข้าใจแผนการของพระเจ้า
ผ่านทางเรื่องราวของชนชาติอิสราเอล
ผมขอกล่าวข้อความสำคัญอีกครั้งว่า
ขอสันติสุขของพระเจ้าดำรงอยู่กับพี่น้องทุกท่านครับ
ธีรยสถ์ นิมมานนท์
เติมเต็มชีวิตด้วยข้อคิดหนุนใจ
ประชากรแห่งพระสัญญา: อาณาจักรแตกแยก
บทเรียนที่ 01: ปฐมกาล – มาลาคี
หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (Thai New Contemporary Version) โดยองค์การอมตธรรม หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น