ไม้กางเขน

ไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์สากลซึ่งเล็งถึงความเชื่อของคริสเตียน เพราะเตือนให้เรานึกถึงเหตุการณ์อันน่างุนงงและสำคัญที่สุดในชีวิตของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ

เหตุที่ต้องงงงันก็เพราะว่าพระเยซูพระเมสสิยาห์ (ที่พระเจ้าเจิมไว้) ถูกประหารเยี่ยงอาชญากร ชาวยิวไม่สามารถยอมรับคนแบบนี้ว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้าได้ และคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า มนุษย์ในโลกนี้จะได้รับความรอดผ่านทางผู้ซึ่งมีจุดจบอันน่าอนาถเช่นนี้ได้อย่างไร

ถึงกระนั้น คริสเตียนยุคแรกถือว่า ไม้กางเขนมีความหมายลึกซึ้ง เป็นหัวใจของแผนการที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้มนุษย์ อัครทูตเปาโลแน่ใจว่าไม้กางเขนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดบอกคริสตชนชาวโครินธ์ว่า "ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะไม่แสดงความรู้เรื่องใดๆ ในหมู่พวกท่านเลย เว้นแต่เรื่องพระเยซูคริสต์และการที่พระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขน”

พระคัมภีร์ใหม่กล่าวชัดเจนว่าการที่พระเยซูถูกตรึงบนกางเขนนั้นมิใช่เพราะความผิดบาปของพระองค์เอง (คำกล่าวหาพระองค์ทั้งหมดทั้งล้วนเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น) แต่เป็นการตายแทนมนุษย์คนบาปทั้งมวล พระองค์ถูกตัดขาดจากพระเจ้าซึ่งเป็นโทษที่ควรตกกับมนุษย์ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่มนุษย์จะได้รับการอภัยโทษและชีวิตใหม่จากพระเจ้าเมื่อยอมรับว่าพระเยซูตายเพราะบาปของเราและทรงเป็นขึ้นจากตาย

จากการสิ้นพระชนม์บนกางเขนของพระเยซูทำให้เราเห็นถึงความรักอันลึกซึ้งของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงสามารถคืนดีกับพระเจ้าและมนุษย์ด้วยกันได้ เพราะบนไม้กางเขนพระเจ้าได้ถอนพิษความชั่วร้ายจนหมดสิ้น

นอกจากนี้ไม้กางเขนยังเป็นสัญลักษณ์อันน่าทึ่งถึงรูปแบบชีวิตที่คริสตชนควรประพฤติตาม พระเยซูเรียกร้องให้มนุษย์ "รับกางเขนของตนแบกทุกวัน” และตามพระองค์ไป

พระองค์ทรงกำชับให้สาวกมีชีวิตที่สละตัวเอง ยอมสละสิทธิ์ของตนในทุกๆ เรื่องและดำเนินชีวิตใหม่ด้วยพละกำลังที่พระองค์ประทานให้ เปาโลเข้าใจจุดนี้ดีจากประสบการณ์ของเขาเอง "ข้าพเจ้าถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไปแต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า” (1 คร. 1:18-2:5; รม. 5:6-11; อฟ. 2:16-18; คส. 2:14-15; กท. 2:20; 1 ยน. 4:7-10)

ความหมายของกางเขน (The Cross)

เมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตัดสินให้ประหารด้วยการตรึงบนไม้กางเขน เขาก็นำพระองค์ไปโบยตีด้วยแส้หนังตามวิธีลงโทษนักโทษประหาร

แส้นี้ทำด้วยหนังเป็นเส้นๆ คล้ายหางม้า และมีตะกั่ว กระดูกสัตว์หรือของมีคมอื่นๆ ผูกเป็นปมๆ ติดอยู่ เพื่อเพิ่มความเจ็บปวดและสร้างบาดแผลให้มากยิ่งขึ้น นักโทษบางคนถึงกับเสียชีวิตด้วยการโบยด้วยแส้นี้ บางคนถึงกับตาบอดก็มี

หลังจากเฆี่ยนแล้วเขาก็นำพระองค์มาล้อเลียน เยาะเย้ย ทั้งเอาหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมให้ด้วย

พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ให้พระองค์แบกกางเขนอันใหญ่และหนักไปตามถนนทั้งๆ ที่พระองค์บอบช้ำและอดนอนมาตลอดทั้งคืนแล้ว

ขบวนแห่นักโทษนี้จะมีทหารคุมไป 4 คนอยู่คนละมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ข้างหน้ามีป้ายประจานความผิดของนักโทษเขียนเป็น 3 ภาษาคือ กรีก ลาติน และฮีบรู เพราะภาษากรีกเป็นภาษาที่ใช้ในทางการค้า ภาษาลาตินเป็นภาษาทางราชการ ส่วนภาษาฮีบรูเป็นภาษาท้องถิ่น เขาจะนำป้ายอันนี้มาติดไว้ที่ยอดกางเขนเมื่อตรึงแล้วด้วย

นักโทษจะถูกแห่ประจานไปรอบๆ เมือง ก่อนที่จะนำไปประหาร โดยใช้เส้นทางที่ยาวและคดเคี้ยวที่สุด ด้วยเหตุผลสองประการคือ

  1. เป็นการประจาน

  2. ถ้าในขณะที่เดินไปมีผู้ใดจะคัดค้านและขอเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของนักโทษก็จะประท้วงคำพิพากษานี้ได้ คดีนี้จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่

น่าสลดใจที่ไม่มีผู้ใดคัดค้านเพื่อพระเยซูกันเลยแม้แต่คนเดียว

กางเขนที่พระเยซูแบกไปนั้นเข้าใจกันว่าเป็นกางเขนที่เราเห็นอยู่ในโบสถ์ทั่วๆ ไปซึ่งเรียกกันว่ากางเขนแบบลาติน

กางเขนในสมัยนั้นไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเท่านั้น ยังมีกางเขนรูปตัว X เรียกว่ากางเขนของนักบุญอันดรูว์ เพราะเชื่อว่าอัครสาวกอันดรูว์ถูกตรึงด้วยกางเขนชนิดนี้

แบบที่ 3 ก็เป็นรูปตัว T มีชื่อว่ากางเขนแบบเทา (Tau Cross) เป็นกางเขนเก่าแก่ตั้งแต่พระคัมภีร์เดิม ซึ่งโมเสสใช้แบบนี้เพื่อชูงูขึ้น คราวที่เร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร

และแบบที่ 4 ก็คือแบบของกรีกที่เป็นรูปกากบาท + คือแบบสัญลักษณ์ของกาชาดนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีกางเขนอีก 3 แบบ คือ

1. แบบเยรูซาเล็ม (Jerusalem Cross) ความหมายพระกิตติคุณจะขยายไปสี่มุมโลก และรำลึกถึงบาดแผล ห้าจุดของพระเยซูคริสต์

2. แบบมอดิส (Maltese Cross) เป็นรูปดาว 4 แฉก และมีมุม 8 มุม ซึ่งเล็กถึงพระพรทั้ง 8 ประการของพระเยซู ( มัทธิว 5:3-10 )

3. แบบเคลติค (Celtic Cross) รูปแบบกางเขนที่ได้รับอิทธิพลของชาวไอแลนด์โบราณวงกลมในกางเขนมีความหมายถึงความเป็นนิรันดร์ที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย

นอกจากกางเขนสามรูปแบบที่เพิ่มเติม แล้วยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับนิกาย และศาสนศาตร์/เทวศาสตร์ (Theology) ที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตามความหมายคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคือเล็งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขน เพื่อเป็นค่าไถ่มนุษยชาติ หรือบางคนอาจจะกล่าวว่ากางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดแก่บรรดาผู้เชื่อ

การตรึงบนไม้กางเขน เป็นวิธีการทำให้เจ็บปวดรวดร้าว เป็นวิธีการประหารชีวิตซึ่งพวกโรมันใช้ ไม่ใช่เป็นวิธีการของพวกยิว

พวกยิวในสมัยพระคัมภีร์เดิมใช้วิธีประหารชีวิตพวก อาชญากรโดยใช้หินขว้างให้ตาย และเอาศพแขวนไว้บนต้นไม้เป็นเครื่องแสดงว่าคนถูกประหารชีวิตเหล่านั้นอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า (ฉธบ. 21:22-23)

พวกยิวในสมัยพระเยซูอยู่ภายใต้การปกครองของโรมไม่มีอำนาจจัดการประหารชีวิต เขาต้องยอมให้ทางโรมทำ อย่างไรก็ตามพวกชาวยิวไม่ขอให้โรมเอาหินขว้างพระเยซูให้ตาย เขาเห็นว่าจับพระองค์ตรึงบนกางเขนให้ตายมันง่ายดีกว่า (มธ. 27:22-23)

พวกยิวถือกันว่ากางเขนของพระเยซูเป็นเสมือนต้นไม้ เพราะพระองค์ถูกแขวนไว้บนท่อนไม้รูปกางเขนนั้น พวกเขาจึงถือว่าพระองค์ตกอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า

แท้ที่จริงพระเยซูคริสต์ได้ทรงแบกการสาปแช่งของพระเจ้าไว้กับพระองค์อย่างที่เขาคิด พระองค์กระทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะพระองค์เองกระทำผิด พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความบาป แต่พระองค์ทรงรับการสาปแช่งแทนคนบาป

เพราะเหตุความเข้าใจผิดเรื่องการสาปแช่งแห่งกางเขนจึงทำให้การตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนเป็นหินสะดุดพวกชาวยิว พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมเชื่อพระเยซู เพราะฉะนั้นกางเขนจึงเป็นเครื่องกีดกันพวกเขา ไม่ให้รับความรอดจากพระเจ้า

ผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ถือว่าการที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนี้เป็นรากฐานแห่งพันธกิจการช่วยให้รอดของพระเจ้า

ดังนั้นไม้กางเขนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความรอด ซึ่งพระเจ้าทรงโปรดให้ผู้เชื่อทุกคนพ้นจากความผิดบาป ข่าวประเสริฐก็คือข่าวเรื่องไม้กางเขนนั่นเอง กางเขนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอับอาย และความตายด้วย

พระเยซูคริสต์ได้ทรงชี้แจงด้วยพระองค์เองว่า คนเหล่านั้นที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระองค์ ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความอับอาย ความทุกข์ทรมานและความตาย ถ้าหากพวกเขาเป็นสาวกที่แท้จริงของพระองค์

ความเป็นมาของกางเขน

เดิมทีเกิดขึ้นในหมู่ชาวเปอร์เซีย พวกเขามีความเชื่อว่าแผ่นดินนั้นบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ยอมให้ร่างกายของผู้ทำผิดหรือร่างกายที่ชั่วร้ายนั้นมาเกลือกกลั้ว เมื่อจะประหารก็จัดการตรึงไว้ด้วยตะปูนแขวนห้อยเหนือพื้นดิน เมื่อตายแล้วก็ให้แร้งหรือสุนัขป่ามาฉีกกินจนสิ้นซาก

วิธีการเช่นนี้พวกคาเธจซึ่งอยู่ใกล้อิตาลีหรือโรมจดจำมาใช้และทางโรมันก็นำมาใช้อีกต่อหนึ่ง

แต่การนำกางเขนมาใช้นี้มิได้ใช้กับชาวโรมัน แต่จะใช้กับพวกทาสหรือพวกกบฏที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะเขาถือว่าชาวโรมันเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าคนชาติอื่นๆ จะถูกทำทารุณกรรมอย่างนั้นไม่ได้

ซิเซโร นักปรัชญาเป็นเอกที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษแสดงความเห็นไว้ว่า สำหรับประชาชนชาวโรมันแล้ว "การถูกจับมัดก็เป็นอาชญากรรม ถ้าถูกเฆี่ยนตีก็ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นอีก คือถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างที่สุด แต่ถ้าถูกตรึงบนกางเขนละก็ไม่ทราบว่าจะเปรียบกับอะไรอีกได้"

ด้วยเหตุนี้การประหารด้วยการตรึงบนกางเขนจึงไม่มีในหมู่ชาวโรมัน พระเยซูคริสต์ของเราถูกประหารอย่างทารุณที่สุด ต่ำต้อยที่สุดและน่าอับอายที่สุดที่มนุษย์จะคิดขึ้นได้ในสมัยนั้น

7 พระวาทะของพระเยซูคริสต์เจ้าบนกางเขน ก่อนสิ้นพระชนม์

วาทะที่ ๑ “โอพระบิดาเจ้า ขอโปรดอภัยโทษเขาเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร” (ลูกา ๒๓.๓๔)

วาทะที่ ๒ “เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ลูกา ๒๓.๔๓)

วาทะที่ ๓ “หญิงเอ๋ย จงดูบุตรของท่านเถิด” “จงดูมารดาของท่านเถิด” (ยอห์น ๑๙.๒๖,๒๗)

วาทะที่ ๔ “เอลี เอลี ลามาสะบักธานี” (พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย, มัทธิว ๒๗.๔๖)

วาทะที่ ๕ “ เรากระหายน้ำ” (ยอห์น ๑๙.๒๘)

วาทะที่ ๖ “ สำเร็จแล้ว” (ยอห์น ๑๙.๓๐)

วาทะที่ ๗ “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลูกา ๒๓.๔๖)

เพลงไม้กางเขนโบราณ (The Old Rugged Cross)

1.บนภูเขาซึ่งอยู่ไกล ได้แลเห็นไม้กางเขน เป็นรอยแห่งความทุกข์และความอาย

แต่ใจข้ารักไม้กางเขน ที่พระคริสต์ถูกตรึงจนตาย ไถ่คนบาปให้รอดพ้นจากอบาย

(ร้องรับ) โดยเหตุนี้ข้าจึงรักไม้กางเขน เพราะว่าเป็นที่จะวางภาระลง

ข้าก็คงยึดกางเขนไว้ให้มั่น แล้ววันหนึ่งจะแลกเอามงกุฏงาม

2.ไม้กางเขนโบราณนั้น ชาวโลกพากันดูหมิ่น แต่ข้ารักกางเขนยิ่งหนักหนา

เพราะพระเยซูคริสตเจ้า สละเนาในเมืองฟ้า เสด็จมาเพื่อยอมตายบนไม้กางเขน

(ร้องรับ) โดยเหตุนี้ข้าจึงรักไม้กางเขน เพราะว่าเป็นที่จะวางภาระลง

ข้าก็คงยึดกางเขนไว้ให้มั่น แล้ววันหนึ่งจะแลกเอามงกุฏงาม

3.ที่กางเขนโบราณนั้น ข้าได้เห็นรัศมี พระโลหิตของพระองค์ได้ไหลหลั่ง

เพื่อจะได้ชำระบาป ในตัวข้าให้สะอาด นั่นแหละคือไม้กางเขนโบราณนั้น

(ร้องรับ) โดยเหตุนี้ข้าจึงรักไม้กางเขน เพราะว่าเป็นที่จะวางภาระลง

ข้าก็คงยึดกางเขนไว้ให้มั่น แล้ววันหนึ่งจะแลกเอามงกุฏงาม

4.ไม้กางเขนโบราณนั้น ยึดมั่นไว้จนตาย หากใครติเตียนข้าไม่ละอาย

เมื่อวันหนึ่งถึงเวลา พระองค์มารับข้าไป สู่สวรรค์อยู่ที่นั่นสำราญใจ

(ร้องรับ) โดยเหตุนี้ข้าจึงรักไม้กางเขน เพราะว่าเป็นที่จะวางภาระลง

ข้าก็คงยึดกางเขนไว้ให้มั่น แล้ววันหนึ่งจะแลกเอามงกุฏงาม

ผู้ประพันธ์ : เนื้อร้องและทำนอง George Bennard (1913) (เพลงชีวิตคริสเตียน 104)

เพลงนี้ได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 20

ศจ.เบนนาร์ด และภรรยาเข้าอบรมการรับใช้พระเจ้ากับ Salvation Army ( กองทัพแห่งความรอด ) จากนั้นก็ไปรับใช้พระเจ้า กับคริสตจักรของคณะเมธอดิสท์

ช่วงนี้เองเขาได้รับคำหนุนใจให้พัฒนาของประทานด้านดนตรีในช่วงต้น ๆ ของการรับใช้พระเจ้า

ศจ.เบนนาร์ดได้ใช้เวลาอธิษฐาน ที่จะเข้าใจความหมายของไม้กางเขนอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งแผนการทรงไถ่โดยไม้กางเขน เขาใช้เวลาอธิษฐานและใคร่ครวญจนสามารถพูดได้ว่า

"ฉันเห็นพระคริสต์แห่งไม้กางเขนราวกับว่าฉันเห็นตัวหนังสือ ในยอห์น 3:16 ออกมาจากหน้ากระดาษ ปรากฏเป็นภาพ การทรงไถ่ของพระเยซูคริสต์"

ก่อนที่ ศจ.เบนนาร์ด จะลงมือเขียนเนื้อเพลงนี้ เขาเองได้มีประสบการณ์การทนทุกข์ เหมือนอัครทูตเปลา ระหว่างกลับจากทำพันธกิจฟื้นฟูที่มิชิแกน ดังนั้นจึงทำให้เขามีสมาธิแต่งเพลงบทนี้ออกมาได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเลย

ในวันที่ 7 มิถุนายน 1913 เมื่อศจ.เบนนาร์ดนำเพลงบทนี้มาร้องเพื่อนมัสการจึงได้รับความนิยมทันที

ซึ่งอัครทูตเปาโลพูดว่า "ข้าพเจ้าไม่ต้องการอวดนอกจากเรื่องไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์"

เพลงนมัสการของโปรเตสแตนต์เพลงนี้ มีพลังเขย่าจิตวิญญาณให้คริสเตียนรำลึกถึงความรักของพระคริสต์ที่ไม้กางเขน

เมื่อเพ่งกางเขนประหลาด (When I survey the wonderous cross)

1.เมื่อเพ่งกางเขนประหลาด ที่ปลงพระชนม์พระองค์ถึงมรณา

ทรัพย์สินทั้งโลกข้าฯ ไม่ประสงค์ ทิ้งความถือตัวและไม่นำพา

2.โปรดอย่าให้ข้า ฯ อวดเรื่องโลกนี้ กล่าวถึงแต่ความมรณาพระคริสต์

ของของโลกที่ติดใจข้า ฯ นี้ ขอมอบไว้หมดกับพระโลหิต

3.จงยลพระเศียร พระกร พระบาท ความทุกข์ ความรัก ร่วมหลั่งลงมา

ใครเคยทนทุกข์อย่างน่าอนาถ เคยสวมแทนมงกุฏโสภา

4.รวมทรัพย์สมบัติทั้งโลกา มอบแด่พระเจ้าก็ยังน้อยไป

ความรักนี้ไซร้ประหลาดนักหนา ข้า ฯ มอบทุกสิ่งชีวิตจิตใจ อาเมน

ผู้ประพันธ์ : Isaac Watts, 1674–1748 (เพลงไทยนมัสการบทที่ 83)

ทุกครั้งที่เราเข้าเฝ้าพระเจ้า ภาพไม้กางเขนได้ผุดขึ้นในความคิด ในห้วงแห่งความรู้สึกท่ามกลางโลกที่ต้องต่อสู้ โลกที่ถูกทำลายลงทุกวันไม่มีทางรอดอื่นใดหลงเหลืออยู่สำหรับชาติพันธุ์มนุษย์จะเกิดตามมา

มีเพียงความรอดที่แท้อันเกิดจากการเพ่งดูกางเขนประหลาด เป็นกางเขนโบราณแห่งความรัก ซึ่งได้พลิกโฉมจากกางเขนแห่งความน่าสยดสยอง และน่าสะอิดสะเอียน การดูถูก การสมน้ำหน้าในฐานะผู้ร้ายตัวฉกาจ ภาพเหล่านั้นถูกทำลายลงโดยกางเขนอันนั้นที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ได้ถูกตรึงไว้เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว

“เมื่อข้าเพ่งดูกางเขนประหลาด” กางเขนที่ข้าฯ เพ่งดูนั้น ประหลาดไปกว่ากางเขนอื่นๆ เป็นกางเขนแห่งความรัก การคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แม้ว่าจะเป็นกางเขนแห่งความเจ็บปวด ความทุกข์สาหัส การเหยียดหยาม ที่เลวร้ายที่สุดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มิอาจให้อภัยได้

แต่บนกางเขนนั้น ข้าฯ ได้ยินคำพูดที่ว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร” เป็นเพลงที่สั่นความรู้สึกของข้าฯ

ไอแซค วัตต์ ได้ประพันธ์บรรยายเพลงนี้ขึ้นมาด้วยจินตนาการราวกับว่าเขาได้อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ในวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึง

ในวัยเด็กวัตต์ถูกเรียกว่าเป็นเด็กขี้โรคเจ็บออดๆ แอดๆ ท่านถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือหนักตั้งแต่เด็ก ต้องเรียนแม้กระทั่งภาษาลาติน, กรีก, ฮีบรู แม้ว่าจะมีอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ

เมื่อ ไอแซค อายุได้ 15 ปี อัจฉริยะด้านภาษาได้ส่อแววขึ้น ท่านได้เริ่มแต่งเพลงนมัสการขึ้นและมีประมาณกว่า 600 เพลง ที่มีคนร้องมากมายในสมัยนั้น มีเพลงหนึ่งที่ผู้คนชื่นชมมาจนบัดนี้และมีความหมายลึกซึ้งมากคือ “เมื่อดูกางเขนประหลาด”

(ข้อพระคัมภีร์ มัทธิว 26.28, ลูกา 7.47, โรม 5.6-11, กาลาเทีย 6.14)

เพลงสั้น : ที่บนกางเขน

แม้ได้พบได้เจออะไรมากมาย แต่ฉันก็ไม่เป็นสุขใจ

ยังมีส่วนลึก ที่มันขาดหาย สิ่งนั้นมันคืออะไร ที่ใจฉันต้องการ

และแล้วเมื่อฉันเข้าใจ ความหมายที่สำคัญ สิ่งนั้นที่ฉันมองข้ามไป

ที่บนกางเขน นั้นคือความหมาย และไม่มีอะไรสำคัญมากกว่า

(ร้องรับ) ที่บนกางเขนพระองค์ได้ทนทรมาน เพื่อคนอย่างฉันและคนอีกมากมาย

ที่บนกางเขน พระองค์สำแดงรักยิ่งใหญ่ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านี้

เพลงสั้น : โกละโกธา

1.ข้าได้เข้าไปถึงที่โกละโกธา โดยได้แบกเอาความผิดบาปของข้า

ที่นั่นข้าสำนึกว่าโลกนี้หมดหวัง จนได้พบทางแห่งโกละโกธา

2.ที่โกละโกธาข้ายินเสียงอ้อนวอน ได้เห็นพระพักตร์เต็มด้วยความเมตตา

ที่นั่นเป็นที่พ้นภัยให้แก่คนบาป ข้ากล้าเข้าไปด้วยน้ำตานองหน้า

3.ที่นั่นข้าได้พบความรักของพระองค์ รับทุกข์ทรมาน เต็มด้วยบาดแผล

ลำธารแห่งความกรุณาชำระข้า ภาระหนักบาปผิดก็หลุดสิ้นไป

4. แน่นอนพระองค์รับความเจ็บปวดแทนข้า เจ้างูร้าย ก็หมดอำนาจของมัน

ความสันติสุขหลั่งไหลเข้าในใจข้า ข้าจึงสรรเสริญพระองค์เป็นนิตย์

เขียนโดย คุณ โปรดปราน

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com