คำในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก

โดยทั่วไป คำว่า "รัก" ใช้อธิบายความรู้สึกต่าง ๆ มากมาย เช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักที่ร้อนแรงของคนหนุ่มที่มีต่อหญิงสาวที่ตนต้องการจะแต่งงานด้วย หรือความรักของผู้รับใช้พระเจ้าที่มีต่อคนขี้เมา คนจรจัดที่น่ารังเกียจตามข้างถนน

เมื่อผู้เขียนพระคัมภีร์ ใช้คำว่า "รัก" หลาย ๆ คำ คำว่ารักเหล่านั้นก็มีความหมายกว้าง

ในพระคัมภีร์เดิม

ใช้คำในภาษาฮีบรู 2 คำ สำหรับคำว่ารัก

คำที่ธรรมดาที่สุด คือ อะเฮบ (aheb) ซึ่งอธิบายความรักทุกแบบ ตั้งแต่ความรักที่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง (เพลงซาโลมอน 2:4,5,7 โฮเชยา 3:1) ไปจนถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:8 สุภาษิต 3:12)

อีกคำหนึ่ง คือ คาซึส (chasas) ซึ่งไม่มีใช้บ่อยนัก และหมายถึงความรักแบบเลือกรัก (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:7 สดุดี 91:14)

ในภาษากรีก

มีคำที่ใช้เกี่ยวกับเรื่องรักหลายคำด้วยกัน ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่ารักที่ใช้บ่อยมาก คือ อะกาเป (agapao) คำนี้ถูกใช้ในความหมายดังนี้ เป็นความรักสูงสุดที่พระเจ้ารักมนุษย์ (ยอห์น 3:16 โรม 5:8) ความรักที่พระบิดาบนสวรรค์รักพระบุตร (ยอห์น 15:9, 17:33) และความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน (มัทธิว 5:43-44, 19:19, 22:37,39) คำว่าความรัก (อะกาเป) นี้สามารถใช้กับการรักในสิ่งที่ผิด ๆ ได้ เช่น ฟาริสีรักตำแหน่งที่มีเกียรติ เดมาสรักวัตถุสิ่งของในโลกนี้ (2ทิโมธี 4:10)

คำที่สองคือ ฟิเลีย (phileo) ใช้ในความหมายดังนี้ พระเจ้ารักลูก ๆ ของพระองค์ (ยอห์น 16:27 วิวรณ์ 3:19) พระบิดารักพระบุตร (ยอห์น 5:20) และพระคริสต์รักสามพี่น้อง คือ มารีย์ มารธา ลาซารัส (ยอห์น 11:3,36) คำว่ารักนี้ ก็สามารถใช้กับการรักในสิ่งที่ผิด ๆ เช่นกัน เช่น ฟาริสีรักที่จะนั่งในตำแหน่งสูง ๆ ในงานเลี้ยง (มัทธิว 23:6) ฟาริสีรักที่จะให้คนอื่นมาแสดงความเคารพในที่สาธารณชน (ลูกา 20:46)

น่าสนใจที่คำว่าความรัก (อะกาเป) และความรัก (ฟิเลีย) นี้ปรากฎในที่เดียวกันในตอนที่พระเยซูพบเปโตรหลังจากที่พระองค์เป็นขึ้นจากความตาย (ยอห์น 21:15-17) ลักษณะที่ใช้คำ "รัก" เช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็มักจะใช้คำว่า ความรัก (ฟิเลีย) และถ้าเกี่ยวข้องกับด้านความคิดและความตั้งใจ ก็มักใช้คำว่า ความรัก (อะกาเป)

พระเยซูถามเปโตร 2 ครั้ง "เจ้ารัก (ใช้คำว่าอะกาเป) เรามากกว่าสิ่งเหล่านี้หรือ" (ยอห์น 21:15-16)

เปโตรก็ตอบทั้งสองครั้งว่า "ใช่ พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทราบว่าข้าพระองค์รัก (ใช้คำว่าฟิเลีย) พระองค์"

พระเยซูถามเปโตรเป็นครั้งที่สามว่า "เจ้ารัก (ใช้คำว่าฟิเลีย) เราหรือ" (ยอห์น 21:17)

เปโตรก็ตอบว่า "ใช่"

การใช้คำว่ารักที่แตกต่างกันนี้ น่าจะเป็นความตั้งใจ มากกว่าความบังเอิญ เมื่อพระเยซูใช้คำว่า ความรัก (อะกาเป) มันทำให้เรามองความรักในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความตั้งใจ เปโตรเองยังจำภาพที่เขาปฏิเสธพระเยซูสด ๆ ร้อน ๆ อยู่เลย เขาเลยอาจไม่สามารถตอบว่า "รัก" ในลักษณะความคิดและความตั้งใจได้ แต่เมื่อพระเยซูเปลี่ยนมาใช้คำว่า ฟิเลีย ซึ่งเน้นรักในด้านอารมณ์ เปโตรก็ตอบสนองได้ เขายินดีที่จะบอกด้วยความสัตย์จริงว่า เขารักพระเยซูอย่างลึกซึ้ง

จากหนังสือ พระเจ้ารักฉันอย่างไร
(How Does God Love Me?)
เขียนโดย มาร์ติน อาร์เดอ ฮานห์
แปลโดย วรินทรา
เรียบเรียงโดย กนกบรรณสาร
สำนักพิมพ์ กนกบรรณสาร

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com