วรรณกรรมภูมิปัญญา

บทนำ

โยบ สุภาษิต ปัญญาจารย์อยู่ในหมวดวรรณกรรมภูมิปัญญา ลีลาการเขียนแบบนี้ปรากฏในพันธสัญญาเดิมเล่มอื่นด้วย โดยเฉพาะสดุดี หนังสือประเภทนี้ปรากฏในวรรณกรรมประเทศเพื่อนบ้านของอิสราเอลเช่นกัน

เล่ากันว่ากษัตรอย์ซาโลมอนผู้มีชื่อเสียงด้านสติปัญญาเป็นผู้เขียนสุภาษิตกับปัญญาจารย์ เช่นเดียวกับที่กษัตริย์ดาวิดเขียนสดุดี

วรรณกรรมภูมิปัญญาทั้งสามเล่มนี้มีหัวข้อต่างกัน โยบพูดถึงความทุกข์ทรมาน ปัญญาจารย์กล่าวถึงความอนิจจังของชีวิต ส่วนสุภาษิตเป็นคำคมในการดำเนินชีวิต

แต่ละเล่มมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ทุกเล่มล้วนกล่าวถึงการประพฤติปฏิบัติและชีวิตประจำวัน และชีวิตประจำวัน และชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีพระเจ้าอยู่ในครอบครัวและที่ทำงาน มิใช่ที่พระวิหารแห่งเดียว

แก่นแท้ของวรรณกรรมภูมิปัญญาคือ เชื่อว่าพระเจ้าทรงกำหนดชีวิตมนุษย์ให้มีความหมายและปัญญาจะเกิดเมื่อเรานับถือพระองค์และทำตามพระบัญญัติ

1. โยบ

บทกวีเชิงละครอันยอดเยี่ยมนี้ กล่าวถึงปัญหาความทุกข์ทรมานที่คนทุกสมัยฉงนสนเท่ห์ โดยเล่าถึงคนดีชื่อโยบผู้สูญเสียทุกสิ่งอย่าง แต่ยังเชื่อมั่นในพระเจ้า

เนื้อเรื่อง

บทนำ: พระเจ้าอนุญาตให้ซาตานทดสอบโยบ โยบจึงเผชิญกับความหายนะ 1-2

ภาค 1: โยบสนทนากับเพื่อนสามคน 3-31

โยบบ่นต่อพระเจ้า 3

เพื่อนโยบบอกว่าเขาสมควรได้รับทุกข์ แต่โยบไม่เห็นด้วย 4-14

โยบโต้เถียงเพื่อนถึงคนชั่วที่รุ่งเรือง 15-21

โยบอ้างว่าคนบริสุทธิ์แม้ถูกติเตียน 22-31

ภาค 2: เอลีฮูให้ภาพพระเจ้าผิด 32-37

ภาค 3: พระเจ้าเปิดเผยให้โยบเห็นความยิ่งใหญ่ของพระองค์ 38:1-42:6.

ฤทธานุภาพในการทรงสร้าง 38-41

โยบก้มกราบพระเจ้า 42:1-6

บทส่งท้าย: พระเจ้าอวยพรโยบอีกครั้ง 42:7-17

(เฉพาะคำนำและบทส่งท้ายเท่านั้นที่ไม่ใช่บทกวี)

เวลาที่เขียน

ไม่ทราบ เพราะไม่มีร่องรอยอะไรที่บ่งชี้ว่า เขียนขึ้นเมื่อไรหรือโดยผู้ใด แต่พรรณนา ถึงวิถีชีวิตในสมัยอัครปิตา

ข้อความที่มีชื่อเสียง

บทเพลงที่ยกย่องสติปัญญา 28 ‘ข้าทราบว่าพระผู้ไถ่ของข้าทรางพระชนม์อยู่...’ 19:25

บทเรียนสอนใจ

เรื่องราวของโยบกล่าวถึงปัญหาที่ตอบยากถ้าพระเจ้าเป็นผู้ยุติธรรม แล้วไฉนคนดีถึงต้องทนทุกข์ทรมาน โยบแน่ใจว่าเขาไม่ได้ทุกข์เพราะบาป แต่ขณะโต้เถียงกับคู่กรณีเขาไม่สามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ ต่อมาพระองค์ปรากฏต่อโยบ โยบก็พอใจ-มิใช่ชนะการโต้เถียง แต่ได้พบพระพักตร์พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์และเปี่ยมด้วยพระสติปัญญา

2. สดุดี

ประกอบด้วยบทเพลง คำอธิษฐาน บทกวี 150 บทที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกทุกรูปแบบ สิ่งที่เชื่อมโยงแต่ละบทเข้าด้วยกันคือ ความเชื่อและความรักอันลึกซึ้งต่อพระเจ้า หลังสมัยเชลยสดุดีกลายเป็นหนังสือเพลงและบทอธิษฐานของชาวอิสราเอล และคริสเตียนปัจจุบันก็ยังทำเช่นเดียวกัน

เนื้อเรื่อง

สดุดีแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ทุกกลุ่มจบด้วยคำสรรเสริญ(ดูข้อสุดท้ายของบทที่ 41 72 89 106 และ 150 ทั้งบท) แต่ถ้าแบ่งตามหัวข้อใหญ่ๆ อาจมีประโยชน์มากขึ้น เช่น เพลงสรรเสริญพระเจ้า เพลงคร่ำครวญของหมู่ชน สดุดีพระราชา(เขียนขึ้นเพื่อวโรกาสพิเศษในรัชสมัยต่างๆ) การโมทนาและคร่ำครวญส่วนตัว

ช่วงเวลา

กระบวนการรวบรวมสดุดีเหล่านี้อาจเริ่มในสมัยดาวิดหรือก่อนหน้านั้น และได้ทำกันเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์อิสราเอล แต่บางคนคิดว่าได้รวบรวมมากที่สุดในช่วงที่เชลยยิวกลับจากบาบิโลนสู่ถิ่นฐานเดิมและบูรณะพระวิหาร

สถานการณ์

สดุดีหลายบทใช้นมัสการในพระวิหาร และบางบทเป็นผลงานจากสมัยที่ตกเป็นเชลย บางบทแสดงความเชื่อของชนชาติอิสราเอล แต่หลายบทแสดงถึงความเป็นส่วนตัวกับพระเจ้าอย่างสุดซึ้ง

ผู้เขียน

มีหลายคนทีเดียว แต่คาดว่ากษัตริย์ดาวิดมีส่วนเกี่ยวข้องถึง 73 บท บางบทเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์พิเศษในชีวิตของดาวิดเอง เนื่องจากความรักในดนตรีและการนมัสการ ดาวิดจึงเป็นคนแรกที่ส่งเสริมการร้องเพลงสรรเสริญในอิสราเอล

บทสดุดียอดนิยม

ทุกคนย่อมมีสดุดีที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษ แต่มีบางบทได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เช่น ‘ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริ’ 19 ‘พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้า’ 23 ‘พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัย’ 46 คำอธิษฐานขอการชำระ 51 มาสรรเสริญพระเจ้า 95 สรรเสริญพระคุณพระเจ้า 103 พรเจ้าทรงเป็นผู้อารักขา 121 ขอทรงค้นดูข้าพระองค์ 139

บทเรียนสอนใจ

อารมณ์ของผู้เขียนสดุดีมีหลากหลายอย่าง ตั้งแต่ยินดีสุดขีดลงไปถึงหมดอาลัยตายอยาก หลักใหญ่ใจความคือ พระเจ้าสถิตอยู่ในชีวิตทุกด้านของเรา กวีได้เชื่อมโยงประสบการณ์อันลึกซึ้งกับความเชื่ออันมั่นคงในความรักของพระเจ้าเข้าด้วยกัน ผู้อ่านเกือบทุกคนจะพบอารมณ์ความรู้สึกของตัวเขาเองได้ในบทสดุดีเหล่านั้น

3. สุภาษิต

เป็นการรวบรวมคำสุภาษิตต่าง ๆ จากคณาจารย์ผู้ชาญฉลาดแห่งอิสราเอล สิ่งสำคัญในชีวิตคืนควรแสวงหาสติปัญญาที่มีพระเจ้า(ไม่ใช่มนุษย์) เป็นศูนย์กลางและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เนื้อเรื่อง

ภาค 1 : ยกย่องสติปัญญา 1-9

ภาค 2 : คำคม 10-29

สุภาษิตซาโลมอน 10:1-22:16

สุภาษิตสามสิบข้อ 22:17-24:22

สุภาษิตที่เพิ่มเติมเข้ามา 24:23-24

สุภาษิตที่เฮเซคียาห์รวบรวม 25-29

ภาค 3 : ภาคผนวก 30-31

สุภาษิตของอากูร์ 30

สุภาษิตของพระราชชนนีแห่งกษัตริย์ เลมูเอล 31:1-9

ภรรยาที่ดี 31:10-31

ช่วงเวลา

ชาวยิวเล่าต่อกันมาว่า กษัตริย์สององค์ในพันธสัญญาเดิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุภาษิตคือซาโลมอนผู้เป็นคนแรกที่ได้ส่งเสริมบทสุภาษิตให้เป็นที่นิยมและเฮเซคียาร์ผู้สั่งให้รวบรวมคำภาษิตเป็นเล่ม กระบวนการรวบรวมสุภาษิตนี้อาจดำเนินต่อมาอีกนานหลังสมัยเฮเซคียาห์ สุภาษิตจึงปูทางให้เราเข้าถึงคำสอนอันหลักแหลมในสมัยพันธสัญญาเดิม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนค้นพบว่า ‘สุภาษิต 30 ข้อ’ นั้นคล้ายคลึงกับเอกสารฉบับหนึ่งของปราชญ์ชาวอียิปต์

ข้อความที่มีชื่อเสียง

ความยำเกรงพระเจ้าเป็นแหล่งความรู้ 1:7 จงวางใจพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า 3:5-6

ใจความสำคัญ

ตรงข้ามกับความทุกข์ทรมานของโยบและการมองโลกในแง่ร้ายของปัญญาจารย์ สุภาษิตมองโลกในแง่ดี และสอดคล้องกับคำสอนของเฉลยธรรมบัญญัติในแง่ที่ว่าการทำตามวิถีทางของพระเจ้าจะนำไปสู่พระพร

สุภาษิตกล่าวถึงสถานการณ์ภายในบ้าน มิตรภาพ การงาน ธุรกิจและการวางตัวต่อพระพักตร์กษัตริย์

มีหัวข้อดังนี้: สติปัญญาและความโง่คนชอบธรรมและคนชั่ว คำพูดและลิ้น

นักปราชญ์ชาวยิวมีภาษิตว่า’ความยำเกรงพระเจ้าเป็นบ่อเกิดของความรู้’

ความมั่นคงและความยากจน ความหวังและความกลัว ความชื่นบานและความโศกเศร้า ความโกรธ ความขยันและเกียจคร้าน

รากฐานของสติปัญญาทั้งปวงคืนความยำเกรงพระเจ้า

4. ปัญญาจารย์

เช่นเดียวกับโยบ ปัญญาจารย์ตรึกตรองถึงคำถามที่คนทุกยุคสมัยถามกันคือ ทำไมชีวิตดูเหมือนไร้ความหมาย เล่มนี้จัดอยู่ในวรรณกรรมภูมิปัญญา

ผู้เขียน

เล่มนี้แนะนำ’ปัญญาจารย์’ ว่าเป็น ‘เชื้อสายของดาวิด กษัตริย์ในเยรูซาเล็ม’ แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร พระองค์ได้หวนคิดถึงประสบการณ์และการศึกษาตลอดชีวิตที่ผ่านมา

วลีที่มีชื่อเสียง

‘มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง’ 3:1-8

ใจความสำคัญ

ไม่ว่าผู้คนจะไขว่คว้าหาสติปัญญา ความสำเร็จหรือความยุติธรรมสักเท่าไร ผลที่ได้มาก็เป็นเพียงชั่วคราวและมีขีดจำกัด ถ้าจะแสวงหาสิ่งยั่งยืนในชีวิต ก็เหมือนกับ’กินลมกินแล้ง’

เหตุที่ปัญญาจารย์มีท่าทีในแง่ลบก็เพราะท่านรู้จักและเชื่อในพระเจ้า แต่คิดว่ามนุษย์เราไม่สามารถเข้าใจถึงน้ำพระทัยพระองค์ได้ เล่นนี้สะท้อนถึงความน่าสังเวชของชีวิตที่ยึดมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง

‘จงขยันทำงานและเปรมปรีดิ์ในผลงานของตน’ ปัญญาจารย์กล่าวว่า ‘เพราะนอกเหนือจากนี้ ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว’

การที่จัดเล่มนี้ไว้ในพระคัมภีร์แสดงถึงว่าพระเจ้าทรงรอคอยเเหล่าคนที่เชื่อยากด้วยความอดกลั้นพระทัย

5. เพลงซาโลมอน

กอปรด้วยเพลงหกเพลงในรูปของการสนทนาระหว่างเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวโดยมุ่งกล่าวถึงความรักที่มีต่อกันและกัน เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ชนบทในฤดูใบไม้ผลิ ได้ใช้ทิวทัศน์ชนบทมากมายมาบรรยายถึงความปลาบปลื้มยินดีทางกายในชีวิตสมรส

ผู้เขียน

เนื้อความเอ่ยถึงซาโลมอนหลายครั้ง แต่ไม่ชัดว่าเกี่ยวดองกับพระองค์อย่างไร

ใจความสำคัญ

บทเพลงเหล่านี้บรรยายถึงความอัศจรรย์ของความรักทางกายระหว่างสามีภรรยา ความรักนี้มาจากพระเจ้าและสมควรที่มีหนังสือประเภทนี้รวมอยู่ในพระคัมภีร์ หลายคนของตีความเล่มนี้ว่าเล็งถึงความรักระหว่างพระคริสต์กับคริสตจักร แต่เนื้อหาไม่ได้พูดในเชิงนี้เลย

เขียนโดย คุณโปรดปราน