คำว่า "อีสเตอร์" นี้ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ! แต่เรื่องราว ความหมาย และความสำคัญของคำ ๆ นี้ ปรากฎชัดอยู่มากมายในพระคัมภีร์ !
คำว่า อีสเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้เรียก "เทศกาลเฉลิมฉลองการที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย !" นี้ ได้มาจากนามของ "เทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ" ของพวก แองโกล-แซกซอน ที่มีนามว่า "Eastre" (นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า คำนี้อาจมาจากภาษาเยอรมันโบราณ คือ "Eostarun" ซึ่งแปลว่า "รุ่งอรุณ")
เข้าใจว่า การฉลองวันคืนพระชนม์ของพระเยซู มาเกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลิ คงเป็นเพราะ
วันอีสเตอร์ อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือน มีนาคม และ เมษายน)
ฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ต้นไม้ใบหญ้าที่ดูเหมือนตายไปแล้วในฤดูหนาว กลับผลิใบออกดอก ดุจเกิดใหม่ นับเป็นภาพที่เหมาะสมกับการพรรณนาถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์
แต่ตัวเทศกาลของคริสเตียนนี้ จริง ๆ แล้วได้พัฒนามาจากเทศกาล "ปัสกา" (Passover) ของยิว (ภาษาฮีบรูเรียกว่า pesah ส่วนภาษากรีก เรียกว่า pascha) เพราะตามพระคัมภีร์ใหม่ เหตุการณ์ต่าง ๆ ช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพทางกายของพระเยซูคริสต์ อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดังกล่าว !
ดั้งเดิมแล้ว วันอีสเตอร์ ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา (วันที่ 14 ของเดือนนิสาน)
นิสาน (Nisan) คือ เดือนแรกของปีของชาวยิว คล้ายกับเดือนมกราคมของสากล เดิมมีชื่อว่า อาบีบ (Abib) ตรงกับช่วงเดือน มีนาคม - เมษายน ในสมัยปัจจุบัน และวันปัสกานั้นตรงกับวันที่ 14 ของเดือนนิสาน
จนกระทั่งในกลางศตวรรษที่ 2 คริสเตียนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์นั้น ในวันอาทิตย์ หลังจากวันที่ 14 เดือนนิสาน โดยถือเอาวันศุกร์ก่อนหน้านั้นเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงสิ้นพระชนม์ ผลสุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองเทศกาลอีสเตอร์
จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 197 วิคเตอร์ แห่งโรม ได้บีบพวกคริสเตียนที่ยังยืนกรานที่จะฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ออกไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิ คอนสแตนติน ทรงบัญชาให้ถือรักษาวันอีสเตอร์ เป็นวันอาทิตย์ หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการฉลองในวันที่ 14 เดือนนิสาน เหมือนที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม
ด้วยเหตุนี้เอง เทศกาล วันอีสเตอร์ จึงได้รับการเฉลิมฉลอง ในวันอาทิตย์แรกหลังจากวันเพ็ญเดือนแรก ที่ตามหลังวัน "วสันตวิษุตวัต" (Vernal equinox) ซึ่งเป็น "วันที่กลางวนเท่ากับกลางคืน" ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม
พูดง่าย ๆ ก็คือว่า จากวันนั้น มาจนถึงวันนี้ อีสเตอร์ จะต้องมาหลังจากวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี !
จึงสรุปได้ว่า เมื่อตอนเริ่มแรกนั้น อีสเตอร์นั้น เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลองความสอดคล้องของเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอล ให้อพยพรอดออกมาจากอียิปต์ในวันปัสกา และเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดจากความบาป !
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์จึงแยกออกมาเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึง "การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์" หลังจากที่พระองค์ทรงถูกตรึงที่ไม้กางเขน เพื่อไถ่บาปของมนุษย์ และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวยุโรป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ จะดำเนินมายาวนานนับพันปีแล้ว แต่สำหรับชาวไทย วันอีสเตอร์ยังนับว่าเป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่คุ้นเคย
หวังว่า จากนี้ไป อีสเตอร์ จะกลายเป็นเทศกาลที่คนไทยตั้งใจมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยความเข้าใจ !
อ. ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
จากหนังสือ อีสเตอร์ ความจริงที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้
ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน
ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com