เบื้องหลัง

เบื้องหลัง วันอีสเตอร์

คำว่า "อีสเตอร์" (Easter) หมายถึง "เทศกาลของคริสตจักรที่ระลึกถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสต์ ตรงกับช่วงเวลาเทศกาลปัสกาของชาวยิว" (A festival of the Christian Church, commemorating the resurrection of Christ and corresponding to the Jewish Passover.) (From The Shorter Oxford English Dictionary on Historical Principles, Volume 1, A-Markworthy Clarendon Press, Oxford, pp. 624-625.)

เทศกาล "ปัสกา" หรือ "ปัศคา" นี้ (พระธรรมอพยพ 12) คือ เทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ในช่วงประมาณ 1500 ปีก่อนคริสตกาล เราจะเห็นภาพเหล่านี้ได้จากภาพยนตร์อมตะ อย่างเช่น "บัญญัติ 10 ประการ" (The Ten Commandments) หรือ "โมเสส" (Moses) และภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังของโลก "The Prince of Egypt" ของ สตีเฟน สปิลเบิร์ก

กล่าวคือ ในคืนก่อนที่ฟาโรห์จะยอมปล่อยชาวอิสราเอลให้ออกเดินทาง พระเจ้าทรงสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้เกิดภัยพิบัติประการที่ 10 หลังจากที่ฟาโรห์ปฏิเสธที่ปล่อยพวกอิสราเอล ตามคำบัญชาของพระเจ้ามาแล้ว 9 ครั้ง (พระธรรมอพยพ 7-10)

ภัยพิบัติที่ 10 คือ ทูตมรณะจะเข้าไปในทุกครัวเรือนของชาวอียิปต์ เพื่อปลิดชีพของบุตรหัวปีของทุกครอบครัว ยกเว้นแต่ครอบครัวที่เชื่อฟังพระเจ้า โดยการนำเอาโลหิตของลูกแกะมาทาไว้ที่ประตูบ้านของตน เหมือนที่พวกยิวกระทำตามบัญชาของพระองค์

บ้านใด ได้กระทำตามที่พระเจ้าทรงบัญชา ทูตมรณะก็จะไม่เข้าไปในบ้าน แต่จะ "ผ่าน เว้นไป" (Passover) และบุตรหัวปีของครอบครัวนั้นก็จะรอดตาย !

คำว่า "ผ่าน เว้น" (Passover) นี้มาจากภาษาฮีบรู ว่า "Paschal" และภาษาอังกฤษว่า "Passover" ส่วนภาษาไทย เรียกว่า "ปัสกา"

ชาวอิสราเอลจึงมีการเฉลิมฉลองวันนี้เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

และหลังจากนั้นมา ราว ๆ 1500 ปี พระเยซูคริสต์ทรงเสด็จลงมาประสูติในโลก ในวัน "คริสตมาส" และทรงกระทำพันธกิจในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเทศนาสั่งสอนแผ่นดินของพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงช่วงเทศกาล "ปัสกา" ราว ๆ ค.ศ. 33 พระเยซูคริสต์ก็ทรงยอมถูกจับ ทรมาน และถูกตรึง สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน โลหิตของพระองค์ที่ไหลรินเปรียบเหมือนเลือดของลูกแกะ ที่ช่วยชีวิตทุกคนที่เชื่อให้รอด เหมือนเหตุการณ์ในคืนวันปัสกา

จากนั้น ในวันที่ 3 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า สำคัญมากที่สุด เรื่องหนึ่ง ในความคิดและความเชื่อของชาวคริสต์

"ถ้าพระคริสต์มิได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา การเทศนาของเรานั้นก็ไม่มีหลัก ทั้งความเชื่อของท่านทั้งหลายก็ไม่มีหลักด้วย" (1โครินธ์ 15:14)

"และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์ ท่านก็ยังตกอยู่ในบาปของตน และคนทั้งหลายที่ล่วงหลับในพระคริสต์ก็พินาศไปด้วย" (1โครินธ์ 15:17-18)

วันที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายนั้น เป็นวันอาทิตย์ !

ต่อมา เราเรียกวันนั้นว่า "วันอีสเตอร์" (Easter or Easter Sunday)

ฉะนั้น เทศกาลปัสกา (Passover) ของชาวยิว ก็มาเกี่ยวข้องกับวันอีสเตอร์ (Easter) ของชาวคริสต์ด้วยประการฉะนี้

แท้จริงแล้ว คำว่า "อีสเตอร์" (Easter) มาจากภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมันเก่าแก่ว่า "Eastre" ซึ่งตรงกับภาษากรีกว่า "Pascha" ภาษาฮีบรู "Pessach" หรือ "Passover" ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน

บางตำราก็บอกว่า "Easter" มาจากคำว่า "Eostre" ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ ที่ชาวแซกซอนในยุโรปเฉลิมฉลอง ต่อมาคริสเตียนเปลี่ยนมาฉลองพระคริสต์แทน แต่ใช้ชื่อเดิม

สภาไนเซีย ของคริสตศาสนจักร ในราว ค.ศ. 325 ได้ประกาศให้ฉลองวันอีสเตอร์ โดยให้อยู่ในวันอาทิตย์แรกหลังจากพระจันทร์วันเพ็ญในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ที่ใกล้วันที่ 14 เดือนนิสาน (Nisan) ของชาวยิว คือ อยู่ช่วงระหว่าง วันที่ 21 มีนาคม - 25 เมษายน (Dictionary of Christian Lore and Legend, JCJ Metford)

สัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ คือ ไข่ (สัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่), กางเขน และ อุโมงค์ว่างเปล่า ! (สัญลักษณ์ของการเป็นขึ้นจากความตาย)

โดยปกติคริสตชนแท้ จะดำเนินชีวิตให้เหมือนกับว่า

"พระคริสต์ทรงประสูติในวันคริสตมาส

และสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ประเสริฐ เพื่อเราเมื่อวานนี้ (อดีต) !

และทรงเป็นขึ้นมาจากความตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์

และทรงอยู่กับเราวันนี้ (ปัจจุบัน) !

และพระองค์จะทรงเสด็จกลับมารับเรา (ผู้เชื่อ) ในวันพรุ่งนี้ (อนาคต) !"

ชีวิตอย่างนี้ จึงเป็นชีวิตที่ปีติยินดีด้วยความหวังใจในชีวิต ไม่ยอมแพ้ หรือท้อถอยง่าย ๆ !

วันนี้ เราควรพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในแบบที่กล่าวมา ใช่ไหมครับ !

อ. ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
จากหนังสือ อีสเตอร์ ความจริงที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com