สิทธิอำนาจของพระคัมภีร์
คุณค่าของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม
วันนี้เราจะมาเติมเต็มชีวิตด้วยข้อคิดหนุนใจ ซึ่งเป็นข้อคิดตกผลึกจากชั้นศึกษาพระคัมภีร์ “ประชากรแห่งพระสัญญา ภาคสอง อาณาจักรแตกแยก” ในพระธรรม 1 พงศ์กษัตริย์ บทที่ 11 ถึง พระธรรม 2 พงศ์กษัตริย์ บทที่ 25 และ พระธรรม 2 พงศาวดาร บทที่ 10 ถึง บทที่ 36 พร้อมทั้งยังกล่าวถึงพระธรรมเล่มอื่น ๆ ในหมวดผู้เผยพระวจนะด้วยครับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอิสราเอล หลังจากรัชสมัยของกษัตริย์โซโลมอน จนถึงการล่มสลายของเยรูซาเล็ม
ในบทแรกนี้ ผมจะกล่าวถึงพระวจนะของพระเจ้า ประชากรของพระองค์ และแผนการของพระองค์
หลานชายของผมชอบดูการ์ตูนเรื่องโปรดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่เขายังคงรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง ราวกับว่า เขาเพิ่งดูการ์ตูนเรื่องนั้นเป็นครั้งแรก พี่น้องเคยมีพฤติกรรมในทำนองนี้ไหมครับ?
ผมมักจะเป็นแบบนี้ตอนอ่านพระคัมภีร์ครับ แม้ผมจะอ่านพระคัมภีร์เรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับการได้รับข้อคิดหนุนใจใหม่ ๆ ครับ
พระคริสตธรรมคัมภีร์ หรือที่เรียกกันว่า พระคัมภีร์ เป็นหนังสือขายดีที่สุดตลอดกาล และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่าสองพันภาษา
พระคัมภีร์พิเศษกว่าหนังสือทั่วไป เพราะพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า และเป็นการรวบรวมหนังสือและจดหมายจำนวน 66 เล่ม ซึ่งเปิดเผยความจริงว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ใด? พระองค์ทรงมีพระลักษณะอย่างไร? นอกจากนี้ พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงประชากรของพระองค์ และแผนการสำหรับสิ่งทรงสร้างของพระองค์ด้วย
ตั้งแต่พระธรรมปฐมกาลจนถึงพระธรรมวิวรณ์ ถูกร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับแผนการไถ่ของพระเจ้า กล่าวคือ พระองค์ได้ประทานพระเยซูมาในโลก เพื่อช่วยโลกให้รอดพ้นจากผลของบาป
เรามาเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกันเลยครับ
บทเรียนในวันนี้ แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่
เราให้สิ่งใดมีสิทธิอำนาจในชีวิต? สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเราและส่งผลต่อการตัดสินใจของเรานั้น อาจจะเป็น “ความคิด หรือ สติปัญญา” “ความรู้สึก” หรือ “วัฒนธรรม” ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสามอย่างนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และอาจจะมีอคติหรือความผิดพลาดได้ ดังนั้น “พระคัมภีร์” จึงเป็นสิ่งที่เราควรยึดถือ และควรให้มีสิทธิอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทุกเรื่องของเรา เพราะพระคัมภีร์สมบูรณ์แบบและไม่เปลี่ยนแปลง หากเรายอมให้พระวจนะของพระเจ้ามีสิทธิอำนาจสูงสุด ชีวิตของเราก็จะมั่นคงและปลอดภัย
เหตุใดเราจึงเชื่อมั่นในพระคัมภีร์ และให้พระคัมภีร์มีสิทธิอำนาจสูงสุดในชีวิต? เหตุผลสำคัญก็คือ ต้นกำเนิดของพระคัมภีร์ ธรรมชาติและวัตถุประสงค์ของพระคัมภีร์ รวมถึงวิธีการเข้าใจพระคัมภีร์
ต้นกำเนิดของพระคัมภีร์มาจากไหน? ถึงแม้ว่า มนุษย์จะเป็นผู้เขียนพระคัมภีร์ แต่ต้นกำเนิดของพระคัมภีร์ไม่ได้มาจากมนุษย์ อัครทูตเปโตรกล่าวอย่างชัดเจนว่า
“เหนือสิ่งอื่นใดท่านต้องเข้าใจว่าไม่มีคำพยากรณ์ใดในพระคัมภีร์ที่มาจากความเข้าใจของตัวผู้เผยพระวจนะเอง เพราะคำของผู้เผยพระวจนะนั้นไม่เคยเกิดจากเจตจำนงของมนุษย์ แต่มนุษย์กล่าวถ้อยคำซึ่งมาจากพระเจ้าตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจเขา” (2 เปโตร 1:20-21)
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของพระคัมภีร์ คือ พระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระองค์ตรัสผ่านมนุษย์ที่เป็นผู้เขียน โดยทรงดลใจผู้นั้น ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์จึงเป็นพระวจนะของพระเจ้าอย่างแท้จริง
ธรรมชาติของพระคัมภีร์เป็นอย่างไร? เราจะพบคำตอบได้ในจดหมายของอัครทูตเปาโลถึงทิโมธี ซึ่งเขียนว่า
“และรู้ว่าตั้งแต่เด็กมาแล้ว ท่านก็ได้รู้พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถทำให้ท่านมีปัญญาที่จะมาถึงความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม เพื่อเตรียมคนของพระเจ้าให้พรักพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง” (2 ทิโมธี 3:15-17)
พระธรรมตอนนี้ยืนยันพระธรรม 2 เปโตรก่อนหน้านี้ว่า พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และยังเสริมว่า พระคัมภีร์เป็นประโยชน์หลายประการต่อผู้เชื่อ
เราจะตีความพระวจนะให้ถูกต้องได้อย่างไร? เราจะเข้าใจชัดเจนถึงพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร?
พระเจ้าทรงติดต่อสื่อสารกับเราผ่านทางพระคัมภีร์ โดยทรงใช้กระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันดังนี้ การเปิดเผย การดลใจ และการอธิบาย ตามที่ปรากฏในพระธรรม 1 โครินธ์ 2:9-16
เรามาพิจารณาแต่ละกระบวนการกันเลยครับ
1.3.1 การเปิดเผย
ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การเปิดเผย พระเจ้าทรงใช้กระบวนการนี้เพื่อทรงเปิดเผยข้อความจริงต่าง ๆ แก่มนุษย์ ถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงเปิดเผย มนุษย์ก็จะไม่มีวันรู้ อัครทูตเปาโลกล่าวว่า
“ตามที่มีเขียนไว้ว่า ‘ไม่เคยมีใครได้เห็น ไม่เคยมีใครได้ยิน ไม่เคยมีจิตใจใดหยั่งรู้ สิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้บรรดาผู้ที่รักพระองค์’ แต่พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยสิ่งนั้นแก่เราโดยพระวิญญาณของพระองค์ พระวิญญาณทรงสืบทราบทุกสิ่งแม้แต่สิ่งล้ำลึกของพระเจ้า ความคิดของมนุษย์ใครไหนเล่าจะรู้เว้นแต่จิตวิญญาณของคนนั้นเอง? เช่นเดียวกันไม่มีใครหยั่งรู้พระดำริของพระเจ้าได้นอกจากพระวิญญาณของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 2:9-11)
1.3.2 การดลใจ
ขั้นตอนที่สอง คือ การดลใจ พระเจ้าทรงใช้กระบวนการนี้เพื่อทรงนำให้มนุษย์เขียนพระคัมภีร์ โดยยังดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความสนใจเฉพาะบุคคล หรือรูปแบบทางวรรณกรรมของผู้เขียน ในขณะเดียวกัน พระดำริของพระองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์ก็ได้รับการบันทึกไว้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ
“นี่คือสิ่งที่พวกเราพูด ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำซึ่งสติปัญญาของมนุษย์สอนไว้ แต่ด้วยถ้อยคำซึ่งพระวิญญาณทรงสอน เป็นการสำแดงความจริงด้านจิตวิญญาณด้วยถ้อยคำฝ่ายจิตวิญญาณ” (1 โครินธ์ 2:13)
1.3.3 การอธิบาย
ขั้นตอนที่สาม คือ การอธิบาย หรือการส่องสว่างเข้ามายังจิตใจ พระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใช้กระบวนการนี้เพื่อทำให้เราเข้าใจและยินดีที่จะยอมรับพระวจนะของพระองค์
“ผู้ปราศจากพระวิญญาณไม่อาจรับสิ่งที่มาจากพระวิญญาณของพระเจ้าเพราะเห็นเป็นเรื่องโง่เขลา และเขาไม่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านั้นเพราะต้องอาศัยการแยกแยะฝ่ายจิตวิญญาณจึงจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้ ผู้ที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณวินิจฉัยทุกสิ่งได้ แต่ตัวเขาเองไม่ตกอยู่ในการวินิจฉัยของใคร ‘เพราะใครเล่าจะหยั่งรู้พระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า ที่จะสั่งสอนพระองค์ได้?’ แต่เรามีพระทัยของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 2:14-16)
ผมขอสรุปส่วนแรกนี้ด้วยถ้อยแถลงสามประการ ซึ่งยืนยันสิทธิอำนาจสูงสุดของพระคัมภีร์ ได้แก่
สิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ มีรากฐานมาจาก ผู้เขียน
ความถูกต้องสมบูรณ์แบบของพระคัมภีร์ มีรากฐานมาจาก การดลใจ
ประโยชน์ของพระคัมภีร์ มีรากฐานมาจาก ธรรมชาติและวัตถุประสงค์
เหตุใดเราจึงจำเป็นต้องศึกษาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม?
ผู้เชื่อหลายคนขาดแรงจูงใจในการศึกษาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เพราะพวกเขามองว่า เป็นเรื่องไกลตัวและเข้าใจยาก
อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงอ้างถึงพันธสัญญาเดิมหลายครั้ง พันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ต่างก็กล่าวยืนยันซึ่งกันและกันว่า เป็นพระวจนะของพระเจ้า พันธสัญญาเดิมแสดงความหมายอย่างสมบูรณ์ในพันธสัญญาใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ผมจึงขอหนุนใจให้พี่น้องมีความกระตือรือร้นในการศึกษาพันธสัญญาเดิม เช่นเดียวกับการศึกษาพันธสัญญาใหม่นะครับ
เหตุผลที่สนับสนุนให้เราศึกษาพันธสัญญาเดิมมีอย่างน้อยเจ็ดประการ คือ
พระเจ้าทรงเปิดเผยพระลักษณะของพระองค์ที่ทรงเป็นเหมือนเดิมเสมอในพันธสัญญาเดิม เราสามารถรู้จักพระองค์ รักพระองค์ และเชื่อฟังพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นอย่างที่พระองค์ทรงเปิดเผยว่า พระองค์ทรงเป็น
การสำแดงที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับพระลักษณะของพระองค์ ปรากฏอยู่ในพระธรรมอพยพ
“... องค์พระผู้เป็นเจ้าพระยาห์เวห์ พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและพระคุณ ทรงกริ้วช้า บริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์ ผู้แสดงความรักมั่นคงต่อคนนับพันชั่วอายุ โดยให้อภัยความชั่วร้าย การกบฏ และบาป แต่พระองค์จะไม่ทรงละเว้นโทษผู้กระทำผิด พระองค์จะทรงลงโทษลูกหลานของเขาเพราะบาปของบรรพบุรุษถึงสามสี่ชั่วอายุคน” (อพยพ 34:6-7)
พันธสัญญาเดิมแนะนำให้เรารู้จักหลักคำสอนที่สำคัญ ซึ่งเป็นเสาหลักของความเชื่อคริสเตียน ไม่ว่าจะเป็นหลักคำสอนเรื่องการสร้าง ความชอบธรรม บาป การพิพากษา พระคุณ ความรอด และมาตรฐานของความบริสุทธิ์
ทั้งคำพยากรณ์ในส่วนของการพิพากษาและความรอดพ้น กล่าวคือ การพิพากษามาจากการไม่เชื่อและการไม่เชื่อฟัง ส่วนความรอดพ้นรวมถึงพระพรมาจากการเชื่อและการเชื่อฟัง
อัครทูตเปาโลกล่าวเตือนใจและหนุนใจเราว่า
“เพราะทุกสิ่งที่เขียนไว้ในอดีตก็เขียนขึ้นเพื่อสอนเรา เพื่อว่าเราจะได้มีความหวังโดยความทรหดอดทนและการให้กำลังใจจากพระคัมภีร์” (โรม 15:4)
“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่พวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และบันทึกไว้เพื่อเตือนใจเราผู้ซึ่งอยู่ในยุคที่พระราชกิจของพระเจ้าจะสำเร็จ” (1 โครินธ์ 10:11)
หลักการแห่งพันธสัญญา ประกอบด้วย ความรัก การเชื่อฟัง และความชอบธรรม โดยพระมหาบัญญัติแห่งความรักที่พระเยซูประทาน คือ ให้เรารักพระเจ้า และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ก็มีจุดเริ่มต้นในพันธสัญญาเดิม คือ พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ และพระธรรมเลวีนิติ
ส่วนความรับผิดชอบทางจริยธรรม เช่น ความยุติธรรม และความเมตตานั้น ปรากฏชัดเจนในข้อที่เรารู้จักกันดี คือ พระธรรมมีคาห์ 6:8 ซึ่งกล่าวว่า
“มนุษย์เอ๋ย พระองค์ได้ทรงสำแดงแก่ท่านแล้วว่าอะไรดี และอะไรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จากท่าน? คือ จงประพฤติอย่างเที่ยงธรรม รักความเมตตากรุณา และดำเนินอย่างถ่อมใจไปกับพระเจ้าของท่าน” (มีคาห์ 6:8)
ซึ่งไม่ใช่พระประสงค์สำหรับชนชาติอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนชาติอื่น ๆ ด้วย
พระเจ้าทรงเลือกชนชาติอิสราเอล โดยทรงมีพระประสงค์สามประการ คือ ให้เป็นแสงสว่างแก่ชนชาติอื่น ๆ ให้เป็นผู้เก็บรักษาความจริง และให้เป็นช่องทางที่พระเมสสิยาห์เสด็จมายังโลกนี้
อย่างไรก็ตาม พันธสัญญาเดิมและคำพยากรณ์ต่าง ๆ ยังเกี่ยวข้องกับชนชาติอื่น ๆ รวมถึงคนไทยทุกคนซึ่งอยู่นอกเขตแดนอิสราเอลด้วย ดังที่พระธรรมมาลาคี 1:5 กล่าวว่า
“เจ้าจะเห็นกับตาและกล่าวว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยิ่งใหญ่นัก แม้กระทั่งนอกเขตแดนอิสราเอล!’ ” (มาลาคี 1:5)
พันธสัญญาเดิมพยากรณ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับพระเยซูพระเมสสิยาห์ โดยเริ่มต้นพยากรณ์ตั้งแต่พระธรรมปฐมกาล 3:15 เป็นต้นมา และสำเร็จครบถ้วนในพระชนม์ชีพของพระเยซู
พระองค์ตรัสไว้ในบทสุดท้ายของพระกิตติคุณลูกาว่า
“... ทุกสิ่งต้องสำเร็จตามที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในหนังสือบัญญัติของโมเสส หนังสือผู้เผยพระวจนะ และในหนังสือสดุดี” (ลูกา 24:44)
ดร. เคน โบอา ได้กล่าวว่า “เมื่อนำคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์มารวมเข้าไว้ด้วยกันแล้วก็พบว่า ประตูของคำพยากรณ์นั้นแคบมาก จนถึงกับมีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่จะผ่านเข้าไปได้” บุคคลนั้น คือ พระเยซูพระเมสสิยาห์
“พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม เพื่อเตรียมคนของพระเจ้าให้พรักพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง” (2 ทิโมธี 3:16-17)
เมื่ออัครทูตเปาโลกล่าวถึง “พระคัมภีร์ทุกตอน” เขาหมายถึงพันธสัญญาเดิมเป็นหลัก เนื่องจากในเวลานั้น พระคัมภีร์ของผู้เชื่อ คือ พันธสัญญาเดิม
ขอบคุณพระเจ้าที่เรามีพระคัมภีร์ทั้งสองภาค และยังสามารถศึกษาพระคัมภีร์ได้สะดวกอย่างมาก เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น ขอให้เราจัดสรรเวลาในแต่ละวัน เพื่อคว้าโอกาสที่จะเติบโตผ่านการศึกษาพระคัมภีร์นะครับ
ผมขอกล่าวข้อความสำคัญอีกครั้งว่า
ขอพระคุณขององค์พระเยซูคริสต์เจ้า ความรักของพระเจ้า และสามัคคีธรรมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดำรงอยู่กับทุก ๆ ท่านครับ
ธีรยสถ์ นิมมานนท์
เติมเต็มชีวิตด้วยข้อคิดหนุนใจ
ประชากรแห่งพระสัญญา: อาณาจักรแตกแยก
บทนำ: พระวจนะของพระเจ้า ประชากรของพระองค์ และแผนการของพระองค์
หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (Thai New Contemporary Version) โดยองค์การอมตธรรม หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น