พระราชกิจของพระคริสต์

พระราชกิจของพระคริสต์มีความหมายเจาะจงถึง การสิ้นพระชนม์ การเป็นขึ้นจากความตาย การเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ และการรับพระสิริของพระคริสต์

ความตายของพระคริสต์เป็น “ราชกิจ” อย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงกระทำ เพราะว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับพระองค์โดยที่พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ทรงรู้ตัว ตรงกันข้ามสิ่งนี้เป็นผลที่เกิดจากการตัดสินพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์ โดยไม่ทรงหลีกหนีจึงถือได้ว่านี้เป็น “ราชกิจ” ของพระองค์

นอกจากนี้ ความตายยังเป็น “ราชกิจ” ได้เพราะทำให้มนุษย์ได้รับผลประโยชน์จากงานนั้น

ตามแนวคิดในพระคัมภีร์การใช้คำว่า “ราชกิจ” คงเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความหมายของการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์

1. การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์เป็นสิ่งสำคัญ
(The Importance of the Death)

โดยทั่วไปชีวิตของมนุษย์สำคัญกว่าความตาย แต่สำหรับพระคริสต์แล้วตรงกันข้าม เพราะความตายของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญสุดยอดสำหรับชีวิตของพระองค์ในโลกนี้ มีเหตุผลหลายประการดังนี้

ก. เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์เดิมได้พยากรณ์ไว้ (It is Foretold in the Old Testament.)

มีคำพยากรณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์เดิมหลายตอนเล็งถึงความตายของพระคริสต์ เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เริ่มตั้งแต่เครื่องบูชาของอาเบล

"ส่วนอาแบลก็นำแกะหัวปีจากฝูงและไขมันของแกะมาถวาย พระเจ้าทรงพอพระทัยอาแบลและเครื่องบูชาของเขา” (ปฐมการ 4:4)

หรือแกะผู้บนเขาโมรียาห์

"อับราฮัมเงยหน้าขึ้นมองดู เห็นข้างหลังท่านมีแกะผู้ตัวหนึ่ง เขาของมันติดอยู่ในพุ่มไม้ทึบ อับราฮัมก็ไปจับแกะตัวนั้นมาถวายเป็นเครื่องเผาบูชาแทนบุตรชาย” (ปฐมกาล 22:13)

เครื่องบูชาทั่วไปของอัครปิตา (ปฐก. 8:20; 12:8; 26:25; 33:20; 35:7) แกะของเทศกาลปัสกาในอียิปต์ (อพย. 12:1-28) บูชาตามระบบเลวี (ลนต. 1-7) เครื่องบูชาของมาโนอาห์ (วนฉ. 13:16-19) เครื่องถวายบูชาประจำปีของเอลคานาท์ (1 ซมอ. 1:21) เครื่องบูชาของซามูเอล (1 ซมอ. 7:9-10; 16:2-5) เครื่องถวายบูชาของดาวิด (2 ซมอ. 6:18) เครื่องบูชาของเอลียาห์ (1 พกษ. 18:38) เครื่องบูชาของเฮเซคียาห์ (2 พศด. 29:21-24) จนถึงเครื่องบูชาในสมัยของโยชูวาและเศรุบบาเบล (อสร. 3:3-6) และเนหะมีย์ (นหม. 10:32-33)

ทั้งหมดนี้เล็งถึงเครื่องบูชาเพียงอย่างเดียว คือ เครื่องบูชาใหญ่ที่ยิ่งกว่า ของพระคริสต์

มีคำพยากรณ์ที่เล็งถึงความตายของพระคริสต์ เช่น ผู้เขียนสดุดีทำนายถึงการทรยศต่อพระคริสต์

"แม้ว่าเพื่อนในอกของข้าพระองค์ ผู้ซึ่งข้าพระองค์ไว้วางใจ ผู้รับประทานอาหารของข้าพระองค์ ก็ยกส้นเท้าใส่ข้าพระองค์” (สดด. 41:9; ดู ยน. 13:18; กจ. 1:16)

การตรึงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น (สดด. 22:1, 7-8, 18; ดู มธ. 27:39-40, 46; มก. 15:34; ยน. 19:23-24) การเป็นขึ้นจากความตาย (สดด. 16:8-11 เปรียบเทียบกับ กจ. 2:25-28)

อิสยาห์กล่าวว่า

“พระองค์ถูกแทงเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย และต้องฟอกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา” (อิสยาห์ 53:5)

ดาเนียลก็ระบุไว้ว่าหลังจาก 69 สัปตะ พระเมสสิยาห์จะต้องถูกตัดออกและจะไม่มีอะไรสำหรับท่าน (ดนล. 9:26) เศคาริยาห์เองก็พยากรณ์ว่าพระคริสต์จะถูกขายด้วยเงิน 30 เหรียญ และเงินนั้นถูกนำไปซื้อทุ่งช่างหม้อ (ศคย. 11:12; มธ. 26:15; 27:9-10) นอกจากนี้เศคาริยาห์ได้กล่าวถึงการตีเมษบาล (ศคย. 13:7) และบ่อน้ำพุพลุ่งขึ้นเพื่อชำระให้พ้นบาปและความไม่สะอาด (13:1) จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราเห็นได้ชัดว่าเรื่องความตายของพระคริสต์เป็นคำสอนที่สำคัญของพระคัมภีร์เดิม

ข. เป็นเรื่องเด่นของพันธสัญญาใหม่ (It is Prominent in the New Testament.)

ในพระกิตติคุณทั้งสี่ ( คือ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ) บรรยายเรื่องสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตพระเยซูพระคริสต์ในโลกโดยใช้เนื้อที่ประมาณหนึ่งในห้าของทั้งหมด

ในจดหมายฝากเองก็คล้ายกัน เต็มไปด้วยข้ออ้างอิงมากมายที่กล่าวถึงเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจผู้เขียนพระคัมภีร์ให้ความสำคัญสุดยอดต่อเรื่องความตายและการเป็นขึ้นจากความตายขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ค. เป็นจุดประสงค์หลักของการเสด็จมาประสูติ (It is the Chief Purpose of the Incarnation.)

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าจุดประสงค์แรกที่พระเยซูคริสต์ทรงเสด็จมาก็เพื่อตายเพื่อเราไม่ใช่มาวางแบบอย่างหรือให้คำสอนแก่เรา (มก. 10:45; ฮบ. 2:9, 14; 9:26; 1 ยน. 3:5)

ความตายของพระองค์จึงไม่ใชสิ่งที่คิดขึ้นภายหลังหรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นการทำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการมารับสภาพเป็นมนุษย์ของพระองค์

ดังนั้นการเสด็จมารับสภาพมนุษย์จึงไม่ได้เป็นเป้าหมาย แต่เป็นเพียงหนทางเพื่อจะบรรุลเป้าหมายแห่งการไถ่คนบาป โดยทางความตายบนไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ง. เป็นหัวข้อพื้นฐานของกิตติคุณ (It is the Fundamental Theme of the Gospel.)

คำว่า “กิตติคุณ” [gospel] แปลว่า “ข่าวดี”[good news] ดังนั้นจึงใช้คำนี้ในหลายลักษณะ เช่น

  • สี่เรื่องที่บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูในโลกนี้เรียกว่า “กิตติคุณ”

  • การสำแดงของพระเจ้าต่อมนุษย์ที่ทรงสร้างก็เรียกว่า กิตติคุณ

และถ้าจะเจาะจงอาจกล่าวได้ว่าคำนี้หมายถึง “ข่าวดี” เกี่ยวกับความรอดนั่นเอง

อัครสากเปาโลกล่าวว่า กิตติคุณนี้ประกอบด้วยเรื่อง ความตายของพระคริสต์เพราะบาปของเรา การถูกฝังไว้ และการเป็นขึ้นจากความตาย (1 คร. 15:1-5)

การที่พระคริสต์ตายเพราะบาปของเรานั้นเป็นข่าวดี เพราะมนุษย์ไม่ต้องตายเพราะบาปของเขาอีก

กฎบัญญัติของโมเสส คำเทศนาบนภูเขา คำสอนและแบบอย่างของพระคริสต์ก็ล้วนทำให้เราเห็นบาปของเรา และแสดงให้เราเห็นความจำเป็นที่ต้องมีผู้ช่วย แต่ไม่ได้ให้วิธีแก้ไขบาปของเรา

ทางออกจึงมีทางเดียวเท่านั้นคือ ความตายของพระคริสต์นั่นเอง

จ. เป็นหัวใจของคริสเตียน (It is Essential to Christianity.)

ศาสนาอื่นๆ ตั้งอยู่บนรากฐานของคำสอนของศาสดาของเขา แต่คริสเตียนแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ โดยให้ความสำคัญที่ความตายของศาสดา เพราะถ้าเรานำเอาความตายของพระเยซูคริสต์ออกไป คริสเตียนก็จะลดคุณค่าลง เพราะจะเหมือนมีแต่ระบบจริยธรรมมากกว่า แต่เราก็ไม่มีทางนำถึงของความรอด

พูดง่ายๆได้ว่าถ้านำเรื่องของกางเขนออกไป หัวใจของคริสเตียนจะหายไป

หัวใจคำเทศนาของอัครสาวก คือ เรื่องของพระคริสต์และการถูกตรึงของพระองค์

"คนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศก็เห็นว่าเรื่องกางเขนเป็นเรื่องโง่ แต่พวกเราที่กำลังจะรอดเห็นว่าเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า” (1โครินธ์ 1:18,23, 2:2, กาลาเทีย 6:14)

ฉ.จำเป็นสำหรับความรอดของเรา (It is Essential to Our Salvation.)

พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าบุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้นเพื่อมนุษย์จะได้รับความรอด (ยน. 3:14-15) และเมล็ด ข้าวจะต้องตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไปเพื่อจะงอกเกิดผล

"เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไป ก็จะคงอยู่เป็นเมล็ดเดียว แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก” (ยอห์น 12:24)

พระเจ้าผู้ทรงชอบธรรมไม่สามารถอภัยโทษบาปมนุษย์ได้เพียงเพราะมนุษย์รู้สึกสำนึกผิด แต่จะต้องมีการชดใช้หนี้บาปนั้นก่อน

ฉะนั้นพระเยซูคริสต์จึงเสด็จมาเพื่อชดใช้หนี้บาปนี้ เพื่อว่าพระเจ้าจะทรงสามารถอภัยโทษบาปได้และยังทรงความชอบธรรมได้ในเวลาเดียวกัน (รม. 3:25-26)

พระคริสต์เองได้ทรงตรัสไว้หลายครั้งว่าพระองค์จะต้องทนทุกข์หลายประการ จะถูกฆ่า และจะเป็นขึ้นในวันที่สาม (มธ. 16:21; มก. 8:31; ลก. 9:22; 17:25; ยน. 12:32-34) และชายสองคนที่อุโมงค์เตือนหญิงเหล่านั้นที่มาชโลมพระศพของพระคริสต์ว่า พระองค์จะต้องถูกตรึงและจะเป็นขึ้นมาจากความตาย (ลก. 24:7)

ท่านเปาโลก็ได้พยายามพิสูจน์ให้ชาวเธสะโลนิกาเห็นว่า พระเยซูคริสต์จำต้องตาย (กจ. 17:3)

ทำให้ เราเห็นได้ว่าความตายของพระคริสต์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งจากจุดยืนของพระเจ้า เพื่อมนุษย์จะได้รับความรอด

ช. เป็นจุดสนใจสุดยอดในสวรรค์ (It is of Supreme Interest in Heaven.)

มีเหตุการณ์ที่พระคริสต์ทรงจำแลงพระกาย เมื่อโมเสสและเอลียาห์ปรากฏบนภูเขา พวกเขาได้สนทนากับพระคริสต์เรื่อง

"การจากไปของพระองค์ ซึ่งจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก. 9:31)

นอกจากนี้ในสวรรค์ยังมีสัตว์ที่มีชีวิตทั้ง 4 และผู้อาวุโสทั้ง 24 ร้องเพลงสรรเสริญถึงการไถ่บาปที่สำเร็จทางความตายของพระคริสต์ (วว. 5:8-10)

บรรดาทูตสวรรค์รอบพระที่นั่งก็ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระเมษโปดก ผู้ถูกปลงพระชนม์(the Lamb who was slain) (วว. 5:11-12) แม้ว่าพวกเขาเองไม่จำเป็นต้องรับการไถ่ก็ตาม

เมื่อผู้ที่ไม่มีความจำกัดแบบมนุษย์เข้าใจอย่างสมบูรณ์ถึงการไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระคริสต์ พวกเขาจึงสรรเสริญยกย่องความตายของพระคริสต์เหนือทุกสิ่ง

2. ความหมายที่แท้จริงของการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์
(The True Meaning of Christ’s Death)

ผู้พยากรณ์อิสยาห์ กล่าวถึงแก่นแท้ของความจริงนี้ว่า

“แต่ก็ยังเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะให้ท่านฟกช้ำด้วยความเจ็บไข้ เมื่อพระองค์ทรงกระทำให้วิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป” (อิสยาห์ 53:10)

เราควรสังเกตบางประเด็น ก่อนที่จะสรุปคำนิยามของการลบบาป

ก. เป็นการทดแทน (It is Vicarious.)

พระคริสต์ไม่ได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของพระองค์เอง (ยน. 8:46; ฮบ. 4:15; 1 ปต. 2:22) พระคัมภีร์ทุกตอนกล่าวว่า พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของผู้อื่น

"การทนทุกข์ของพระคริสต์จึงไม่ใช่แค่ความทุกข์ของเพื่อนที่เห็นใจเรา แต่เป็นความทุกข์ที่พระเมษโปดกของพระเจ้ารับโทษบาปของมนุษย์ในโลก”

อิสยาห์กล่าวว่า

"แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเราการตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (อิสยาห์ 53:5-6)

ให้สังเกตข้อพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ

"แต่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา” (โรม 5:8)

"พระคริสต์ได้วายพระชนม์เพราะบาปของเราทั้งหลายตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1โครินธ์ 15:3)

"เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงกระทำพระองค์ ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาปเพราะเป็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์” (2โครินธ์ 5:21)

"พระองค์เองได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาปได้ และดำเนินชีวิตตามคลองธรรมด้วยบาดแผลของพระองค์ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย” (1เปโตร 2:24)

"ด้วยพระคริสต์ก็ได้สิ้นพระชนม์ครั้งเดียวเท่านั้นเพราะความผิดบาป คือพระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม เพื่อจะได้ทรงนำเราทั้งหลายไปถึงพระเจ้า” (1เปโตร 3:18)

พระเยซูคริสต์ตรัสว่า

"เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก” (มาระโก 10:45)

"เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีนั้นย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ” (ยอห์น 10:11)

พระคริสต์ทรงตายแทนเรา เป็นแกะปัสกาแท้ ( อพย. 12; 1 คร. 5:7) ทรงเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป (อสย. 53:10) ตามแบบที่พระคัมภีร์เดิมได้กำหนดไว้ (ลนต. 6:24-30; ฮบ. 10:1-4 ดู แพะรับบาป ใน ลนต. 16:20-22 ด้วย)

ข. เป็นการชดใช้บาป (It is Satisfaction.)

เนื่องจากพระลักษณะพื้นฐานของพระเจ้าคือความบริสุทธิ์จึงต้องมีการชดใช้บาปจนสามารถระงับพระพิโรธต่อความบาปได้ ความตายของพระคริสต์ดูเป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะเหตุผลดังนี้

1. เป็นการชดใช้ตามความยุติธรรมของพระเจ้า (It is satisfies the justice of God.)

มนุษย์ได้ทำบาปต่อพระเจ้า ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย พระองค์จึงจำเป็นต้องลงโทษผู้ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของพระองค์ คนบาปจะเป็นอิสระไม่ได้จนกว่าจะมีการจัดการอย่างยุติธรรม นั่นคือ พระเจ้าจะต้องลงโทษความบาป การยกโทษจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการชดใช้ (อพย. 34:7; กดว. 14:18)

พระเจ้าจะยังทรงยุติธรรมและคนบาปถูกนับว่าชอบธรรมได้ มีทางออกทางเดียวเท่านั้นคือ ทางความตายของพระคริสต์ (รม. 3:25-26)

ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำล้วนยุติธรรม หนทางนี้เหมาะสมกับที่พระเจ้าทรงต้องการทั้งหมด

เช่นเดียวกับที่นักโทษของรัฐที่ได้รับโทษตามกฎหมายแล้วก็จะไม่ถูกลงโทษอีก ความตายของพระคริสต์เป็นการชดใช้บาปที่สมบูรณ์ เนื่องจากการชดใช้บาปนั้นเหมาะสมกับความยุติธรรม ฉะนั้นจึงไม่มีการลงโทษต่อผู้กระทำผิดอีก

2. เป็นการชดใช้ตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า (It is satisfies the law of God.)

ความยุติธรรมของพระเจ้า ยังเป็นการสมควรตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าด้วย

เหตุที่ธรรมบัญญัติของพระเจ้ามีรากฐานจากพระลักษณะของพระเจ้า การละเมิดธรรมบัญญัติจึงเป็นการกระทำผิดต่อพระองค์และมีโทษ

เบอร์คอฟกล่าวว่า “มนุษย์ไม่อาจละเมิดธรรมบัญญัติได้ เพราะสิ่งนี้มีรากฐานมาจากพระลักษณะของพระเจ้า ไม่ใช่…ผลิตผลของการที่ทรงเลือกตามพระทัยของพระองค์” (Berkhof, Systematic Theology p.370 )

แต่ในฐานะที่พระคริสต์ทรงเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ พระเจ้าได้ทรงประทานการชดใช้ที่ทรงพอพระทัย คือ ทางพระคริสต์ผู้ทรงยอมเชื่อฟังด้วยความสมัครใจ (รม. 8:3-4) พระคริสต์ทรงกระทำให้ธรรมบัญญัติสำเร็จโดยความเชื่อฟัง การทนทุกข์ และชีวิตที่ชอบธรรมครบถ้วนของพระองค์

อัครสาวกเปาโลพูดถึงพวกอิสราเอลใน โรม 10:3-4 ว่า

"เพราะว่าเขาไม่รู้จักความชอบธรรมที่พระเจ้าประทานให้ แต่อุตส่าห์ตั้งความชอบธรรมของตนขึ้น เขาจึงไม่ได้ยอมอยู่ในความชอบธรรมของพระเจ้า เพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นจุดจบของธรรมบัญญัติเพื่อให้ทุกคนที่มีความเชื่อได้รับความชอบธรรม" (โรม 10:3-4)

3. เกี่ยวข้องกับการลบบาป (It is involved in atonement.)

แนวคิดในเรื่อง “การชดใช้โทษบาป” นั้นเกี่ยวข้องกับคำศัพท์อื่นๆ ในพระวจนะด้วย การตายของพระคริสต์เป็นการลบบาป และเป็นการะงับพระพิโรธ

ใน เลวีนิติ. 6:2-7 กล่าวถึงพิธีลบบาปส่วนบุคคลไว้ดังนี้

"ผู้ใดทำบาป และทำการไม่ซื่อตรงต่อพระเจ้า…ให้ผู้นั้นนำเครื่องบูชาไถ่กรรมบาปถวายแด่พระเจ้า…และให้ปุโรหิตทำการลบมลทินบาปของเขาต่อพระพักตร์พระเจ้า และเขาจะได้รับการอภัยในทุกสิ่งที่เขาได้ทำไปซึ่งให้รับกรรมบาป” (เลวีนิติ 6:2-7)

ส่วน เลวีนิติ 4:13-20 กล่าวถึงการลบบาปของชุมชนทั้งชาติไว้ว่า

"ถ้าชุมนุมชนอิสราเอลทั้งหมดกระทำผิด…จึงเป็นการกระทำกรรมบาป…ผู้ใหญ่ชุมนุมชนจะเอามือวางบนหัวของวัวนั้นต่อพระพักตร์พระเจ้า และให้ฆ่าวัวตัวนั้นเสียต่อพระพักตร์พระเจ้า…ดังนั้นปุโรหิตจะทำการลบมลทินบาปของชุมนุมชนแล้วเขาทั้งหลายจะได้รับการอภัย” (เลวีนิติ 4:13-20)

จากพระคัมภีร์ทั้งสองตอนนี้ ปรากฏชัดว่าทั้งวัวหรือแกะตัวผู้ต้องตาย เพราะการให้อภัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความตายของตัวแทนคนบาปนั้น

คำฮีบรูที่มักใช้ในตอนเหล่านี้และตอนที่คล้ายๆ กัน แปลว่า “ลบบาป” คือ คาฟาร์ (kaphar) มีความหมายตรงตัวคือ “การปิดซ่อน” เพื่อไม่ให้มองเห็น

ฮอกซีมา (Hoeksema, Reformed Dogmatics. P.389) อธิบายลักษณะการชดใช้บาปโดยเครื่องบูชาแบบพระคัมภีร์เดิมว่า “เครื่องบูชานี้ถูกเรียกว่า เครื่องบูชาไถ่กรรมบาป หรือเครื่องบูชาไถ่บาป และกล่าวกันว่าสัตว์นั้นรับบาปของผู้กระทำผิด ชดใช้บาประงับพระพิโรธและปิดซ่อนบาปจากสายพระเนตรของพระเจ้า ผลที่ตามมาคือการอภัยโทษบาป”

ส่วนแนวคิดการซ่อนบาปให้พ้นสายพระเนตรของพระเจ้ามีนัยในพระคัมภีร์ตอนอื่นด้วย เช่น

"ขอทรงเบือนพระพักตร์พระองค์จากบาปทั้งหลายของข้าพระองค์เสียและทรงลบบรรดาความบาปผิดของข้าพระองค์ให้สิ้น” (สดุดี.51:9)

"พระองค์ทรงเหวี่ยงบาปทั้งสิ้นของข้าพระองค์ไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์” (อิสยาห์ 31:17)

"พระองค์จะทรงเหวี่ยงบาปทั้งหลายของเราลงไปในที่ลึกของทะเล” (มีคาห์ 7:19)

4. เกี่ยวข้องกับการระงับพระพิโรธ (It is involved in propitiation.)

พระคัมภีร์เซ็พทัวจินท์ แปลคำภาษาฮีบรู คาฟาร์ เป็น เอกซิลาซคอไม (exilaskomai) โดยเปลี่ยนจุดเน้นไปบ้างให้มีความหมายของ “การระงับพระพิโรธ” หรือ “การทำให้สงบ”

แนวคิดนี้คือ ถ้าบาปถูกปิดซ่อนไว้หรือถูกนำออกไปแล้ว จะทำให้พระพิโรธของพระเจ้าต่อบาปนั้นสงบลงหรือทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย ผู้แปลพระคัมภีร์เซ็พทัวจินท์ แปลคำนี้ได้เหมาะสมตามความจริงที่ปรากฏ

คำว่า เอกซิลาซคอไม ไม่มีในพระคัมภีร์ใหม่ แต่กิริยา ฮิลาซคอไม (hilaskomai) ปรากฏ 2 ครั้ง (ลก. 18:13, ฮบ. 2:17) คำนาม ฮิลาซมอซ (hilasmos) ปรากฏ 2 ครั้ง (1 ยน. 2:2, 4:10) คำคุณศัพท์ ฮิลาซเทริออน (hilasterion) ปรากฏ 2 ครั้ง (รม. 3:25; ฮบ. 9:5)

ส่วนเรื่องพระพิโรธของพระเจ้านั้นปรากฏหลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ (ยน. 3:36; รม. 1:18; 5:9; อฟ. 5:6; 1 ธส. 1:10; ฮบ. 3:11; วว.19:15)

แนวคิดที่กล่าวมานี้ตรงกับพันธสัญญาใหม่ที่กล่าวว่า ความตายของพระคริสต์เป็นเหตุระงับพระพิโรธของพระเจ้าได้

ท่านเปาโลกล่าวไว้ว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งพระคริสต์ไว้

"ให้เป็นที่ระงับพระพิโรธ [ภาษาไทยแปลเป็น “ลบล้างพระอาชญา”] “ (โรม 3:25)

พระธรรมฮีบรูใช้คำนี้สำหรับ พระที่นั่งกรุณาในพลับพลา (ฮบ. 9:5)

ยอห์นประกาศว่าพระคริสต์

"ทรงเป็นผู้ระงับพระพิโรธ [ลบล้างพระอาชญา] ที่ตกกับเราทั้งหลายเพราะบาปของเรา และไม่ใช่แต่บาปของเราพวกเดียว แต่ของมนุษย์ทั้งปวงในโลกด้วย” (1ยอห์น 2:2)

พระคัมภีร์ฮีบรูกล่าวว่า พระคริสต์ทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้ทรงพระกรุณาและสัตย์ซื่อ

“เพื่อระงับพระพิโรธ [ลบล้างบาป]ของ ประชาชน” (ฮีบรู 2:17)

คำอธิษฐานของคนเก็บภาษีในลูกาก็อาจแปลตามตัวอักษรได้ว่า

"ขอพระเจ้าระงับพระพิโรธต่อข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาป” (ลูกา 18:13)

โดยทางความตายของพระคริสต์พระองค์ได้ทรงทำให้พระพิโรธอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าต่อบาปสงบลงได้

5. เกี่ยวข้องกับการกลับคืนดี (It is involved in reconciliation.)

ความคิดที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการระงับพระพิโรธนั้น คือการกลับคืนดี ทั้ง

สองเรื่องนี้ดูจะเกี่ยวข้องกันเหมือนเหตุและผล กล่าวคือ เหตุที่พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ก็เพื่อ “ทรงระงับพระพิโรธ” ของพระเจ้าผลที่ตามมาคือ พระเจ้าทรงกลับคืนดี (รม. 5:10; 2 คร. 5:18-19; อฟ. 2:16)

มีคำกิริยา คาทาลัสโซ (katallasso) ปรากฏหกครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ (รม. 5.10; 1 คร. 7:11; 2 คร. 5:18-20) คำนาม คาทาลาเก (katallage) ปรากฏ 4 ครั้ง (รม. 5:11; 11:15; 2 คร. 5:18-19) ส่วน ดิดาลลัสซอไม (diallassomai) ปรากฏเพียงครั้งเดียว (มธ. 5:24)

ในทุกๆ ตอน แนวความคิด คือ การกลับคืนดีกัน

เบอร์คูเวอร์ กล่าวว่า ( Berkouwer, The Work of Christ, p.255 ) ท่านเปาโลใช้คำกรีกนี้เพื่ออ้างถึง “ความสัมพันธ์แบบสันติต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นศัตรูกัน โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ได้นำเอาสิ่งที่เป็นอุปสรรคออกไป เพื่อมนุษย์จะกลับคืนดีกับพระบิดาได้”

แนวความคิดนี้ คือ เมื่อเริ่มแรกนั้นพระเจ้าและมนุษย์มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทสนมกันแต่เมื่ออาดัมทำบาป เขาหันหลังให้พระเจ้า และพระเจ้าทรงหันหลังให้อาดัมเช่นกัน ความตายของพระคริสต์ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยเพราะสำเร็จตามกฎเกณฑ์ของพระองค์

ขณะนี้พระเจ้าทรงหันพระพักตร์ของพระองค์มาสู่มนุษย์อีกครั้ง ยังคงเหลือแต่มนุษย์ที่จะต้องหันกลับมาหาพระเจ้า เนื่องจากพระเจ้าได้กลับคืนดีกับมนุษย์แล้วโดยการตายของพระบุตร มนุษย์จึงจะได้รับคำเรียกร้องให้กลับมาคืนดีกับพระเจ้า

นอกจากนี้ ความหมายของการกลับคืนดียังขยายวงกว้างออกไปถึงสิ่งต่างๆ ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกด้วย (คส. 1:20) โดยการกลับคืนดีนี้พระเจ้าได้ทรงประทานพระพรแก่ผู้ยังไม่เชื่อซึ่งอาศัยอยู่ในโลก (มธ. 5:45; รม. 2:4) เปิดโอกาสให้เขากลับใจเสียใหม่ (2 ปต. 3:9) และจะทรงกระทำให้สวรรค์และโลกนี้พ้นจากสภาพที่ตกอยู่ใต้ความบาป (รม. 8:19-21)

ค. เป็นค่าไถ่บาป (It is A Ransom.)

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์อาจเปรียบได้กับการจ่ายค่าไถ่จำนวนหนึ่งเพื่อปลดปล่อยคนให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส

พระคริสต์ทรงตรัสว่าพระองค์ทรงเสด็จมาเพื่อประทานชีวิตของพระองค์ให้เป็นค่าไถ่ของคนเป็นอันมาก (มธ. 20:28; มก. 10:45) จึงกล่าวถึงพระราชกิจของพระคริสต์ว่า เป็นการไถ่บาป (ลก. 1:68; 2:38; ฮบ. 9:12)

เราพบคำกรีก ลูโทรซิส (lutrosis) ในข้ออ้างอิงที่ให้ไว้ในข้างต้น ส่วนกิริยา ลูโทรออไม (lutroomai) ปรากฏใน ลก. 24:21; ทต. 2:14; 1 ปต. 1:18 คำประสม อาพอลูโทรซิส (apolutrosis) ปรากฏ 10 ครั้ง (ลก. 21:28; รม. 3:24; 8:23; 1 คร. 1:30; อฟ. 1:7, 14; 4:30; คส. 1:14; ฮบ. 9:15; 11:35)

ไดซ์แมนกล่าวว่า “ในศตวรรษที่หนึ่ง เมื่อใครได้ยินคำกรีกว่า ลูทรอน (lutron) หรือ “ค่าไถ่” เขาจะคิดถึงเงินที่ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยทาสให้เป็นไท เราพบคำนี้ในเอกสารออกซิริงคัสสามฉบับที่เอ่ยถึงการปลดปล่อยทาสในปี ค.ศ.86, 100, 91 หรือ 107” ( Deissmann, Light from the Ancient East, p.327-328 )

พระวจนะกล่าวว่า โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์เราได้รับการไถ่จากสิ่งต่อไปนี้

  1. จากการลงโทษตามธรรมบัญญัติ หรือดังที่อัครทูตเปาโลกล่าวไว้ใน กาลาเทีย. 3:13 คือ “จากความสาปแช่งแห่งธรรมบัญญัติ” โดยที่พระคริสต์ทรงยอมถูกสาปแช่งเพื่อเรา

  2. จากธรรมบัญญัติเอง โดยการตายจากธรรมบัญญัติทางพระกายพระคริสต์ (รม. 7:4) เพื่อเราจะไม่ต้องอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ แต่อยู่ใต้พระคุณ (รม. 6:14)

  3. จากอำนาจของบาป การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ต่อบาปและการตายของเราต่อบาปในพระองค์ (รม. 6:2, 6; ทต. 2:14; 1 ปต. 1:18-19) เราจึงไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของบาปอีกต่อไป (รม. 6:12-14)

  4. จากซาตาน ผู้ดักจับมนุษย์ (2 ทธ. 2:26) เช่นเดียวกับความตายของพระคริสต์บนไม้กางเขน (ฮบ. 2:14-15)

  5. จากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ทั้งฝ่ายกายและด้านศีลธรรม (รม. 8:23; อฟ. 1:14) รวมถึงกายที่ต้องตายของเราซึ่งจะรับการไถ่อย่างสมบูรณ์เมื่อพระคริสต์เสด็จกลับมา (ลก. 21:28) คำว่า “ไถ่” จึงอาจหมายถึงการจ่ายหนี้ หรืออาจหมายถึงการปลดปล่อยเชลย การถวายบูชาของพระคริสต์ครอบคลุมทั้งสองด้านนี้
    กลับสู่รายการข้างบน

3. ขอบเขตของผลแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์
(The Extent of Christ’s Death)

มีคำถามว่าพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งโลกหรือไม่ หรือสำหรับผู้ที่ได้รับการเลือกสรรเท่านั้น ถ้าพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งโลก ทำไมจึงมีบางคนไม่รอด และถ้าเพื่อคนทั้งโลก คำว่า “คนทั้งโลก” มีความหมายในแง่ไหน ถ้าเฉพาะเพื่อผู้ที่ได้รับการทรงเลือกเท่านั้น ความยุติธรรมของพระเจ้าอยู่ที่ไหน คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ดูเหมือนขึ้นอยู่กับความคิดของเราในเรื่องการทรงกำหนดไว้ของพระเจ้า บางพวกเชื่อว่าพระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อผู้ที่ได้รับการเลือกสรรเท่านั้น และบางพวกเชื่อว่าอย่างน้อย ในแง่มุมหนึ่งพระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งโลกด้วย

ก. พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ที่ได้รับการทรงเลือก (Christ Died for the Elect.)

พระวจนะสอนว่าพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ได้รับการเลือกเป็นเป้าหมายหลัก ท่านเปาโลกล่าวว่า พระเจ้า

"ทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดของคนทั้งปวง โดยเฉพาะของผู้ที่เชื่อในพระองค์” (1ทิโมธี 4:10)

พระเยซูตรัสว่า

"บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติแต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก” (มัทธิว 20:28)

"ข้าพระองค์อธิษฐานเพื่อเขา ข้าพระองค์มิได้อธิษฐานเพื่อโลก แต่เพื่อคนเหล่านั้นที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ เพราะเขาเป็นของพระองค์” (ยอห์น 17:9)

พระคัมภีร์อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า

"พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร และทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร” (เอเฟซัส 5:25)

"ผู้ทรงช่วยเราให้รอดและทรงให้เรามาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่การดีที่เราได้กระทำ แต่เพราะเห็นแก่พระประสงค์ของพระองค์เอง และพระคุณซึ่งทรงประทานแก่เราในพระเยซูคริสต์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มานั้น” (2ทิโมธี 1:9)

พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ที่พระองค์ทรงเลือก ไม่เพียงแต่เปิดทางแห่งความรอดสำหรับพวกเขาเท่านั้น แต่เป็นการจัดเตรียมความรอดไว้สำหรับพวกเขาเมื่อพวกเขาเชื่อ

ข. พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งโลก (Christ Died for the Whole World.)

ข้อพระคัมภีร์หลายตอนกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งโลก เช่น

"จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย” (ยอห์น 1:29)

"ผู้ทรงประทานพระองค์เองให้เป็นค่าไถ่ของคนทั้งปวง” (1ทิโมธี 2:6)

"เพราะว่าพระคุณของพระเจ้าได้ปรากฏแล้วเพื่อช่วยคนทั้งปวงให้รอด” (ทิตัส 2:11)

"พระองค์จึงทรงชิมความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน” (ฮีบรู 2:9)

"พระองค์…ไม่ทรงประสงค์ที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดพินาศเลย แต่ทรงปรารถนาที่จะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่” (2เปโตร 3:9)

"และพระองค์ทรงเป็นผู้ลบล้างพระอาชญาที่ตกกับเราทั้งหลายเพราะบาปของเรา และไม่ใช่แต่บาปของเราพวกเดียว แต่ของมนุษย์ทั้งปวงในโลกด้วย” (1ยอห์น 2:2)

ขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับความรอดของมนุษย์ คือ เริ่มด้วยการเชื่อว่าพระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเขา จึงจะสามารถรับผลแห่งการสิ้นพระชนม์เข้าสู่ชีวิตได้

ถึงแม้ว่าพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน เพื่อให้พระเจ้าทรงกลับคืนดีกับทั้งโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรอด เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องกลับคืนดีกับพระเจ้าก่อน (2 คร. 5:18-20)

เราสรุปได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยของคนทั้งปวงในลักษณะนี้ คือ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทำให้การพิพากษาโทษบาปสำหรับมนุษย์ทุกคนเลื่อนออกไปให้เวลากลับใจ

มนุษย์สามารถรับพระพรแห่งชีวิตที่เคยขาดหายไปเพราะบาปได้ใหม่นำเอาอุปสรรคที่กีดขวางการอภัยโทษบาปจากพระทัยของพระเจ้าและนำคนบาปกลับสู่สภาพดีได้ ถ้าเขาไม่ปฏิเสธหรือเจตนาต่อต้านพระองค์

ผู้ไม่เชื่อได้รับแรงกระตุ้นให้กลับใจเสียใหม่โดยทางกางเขน ทางคำเทศนาของผู้รับใช้พระเจ้า และทางพระราชกิจของวิญญาณบริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่ไม่ได้เจตนากระทำบาป (เช่น ผู้ที่ตายตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่หรือผู้พิการทางสมอง) สามารถรับความรอดและความมั่นใจในความรอดได้ สุดท้ายสรรพสิ่งที่ถูกสร้างจะถูกทำให้กลับสู่สภาพดี

เราสรุปว่าการลบบาปมีไว้พร้อมสำหรับทุกคน ไม่ได้จำกัดไว้เพียงเฉพาะสำหรับบางคน แต่ก็จำกัดสำหรับคนที่เชื่อเท่านั้น

เขียนโดย คุณ โปรดปราน

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com