ไม่ปล่อยโอกาส

คนไทยรุ่นก่อน ๆ ไม่ค่อยพูดกับคนใกล้ชิดว่ารักเขา คงเป็นเพราะไม่เคยถูกสอนให้พูด จึงรู้สึกว่าขัดเขินเมื่อจะต้องพูด

ในสมัยก่อน มีพ่อแม่ไม่กี่คนกระมัง ที่พูดกับลูกว่า "พ่อรักลูก" หรือ "แม่รักลูก" โดยไม่ขัดเขิน เช่นเดียวกันกับในความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา มีภรรยาไม่กี่คนที่จะพูดกับสามีว่า "ฉันรักเธอ" ยิ่งผู้เป็นสามีแล้วละก็ ไม่ต้องพูดเลยว่า ภรรยาจะได้ยินคำว่า "ผมรักคุณ" ออกจากปากของเขา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคนเหล่านั้นรักซึ่งกันและกัน พ่อแม่ก็รักลูก และสามีภรรยาก็รักกัน แต่ทำไมนะ คำว่า "รัก" จึงยากที่จะออกจากปากมาถึงกัน ทั้ง ๆ ที่ความรักแท้นั้นไม่ทำอันตรายใครเลย

"ความรักไม่ทำอันตรายเพื่อนบ้านเลย เหตุฉะนั้น ความรักจึงเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน" (โรม 13:10)

ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนไทยไปเอาวัฒนธรรมในการแสดงความชื่นชมคนมาจากไหน เพราะคนไทยมักจะกล่าวแสดงความรักหรือความชื่นชมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างสะดวกปากสะดวกใจ ก็ต่อเมื่อผู้ที่เราจะกล่าวถึงนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ดังนั้น ที่ ๆ คนไทยจะพูดคำว่ารักได้ง่ายกว่าปกติ คือ ในงานศพของคนที่เรารัก

คุณครับ คุณต้องการให้คนที่คุณรัก และรักคุณบอกคุณว่าเขาหรือเธอรักคุณเฉพาะในงานศพของคุณหรอกหรือ ? คำตอบคงจะเป็นคำว่า "ไม่ใช่"

ในทำนองเดียวกัน คนที่คุณรัก เขาก็คงต้องการคำว่า "รัก" ออกจากปากของคุณในเวลานี้ ไม่ใช่ในงานศพของเขาเช่นกัน

การบอกคำว่า "รัก" ในงานศพ จึงไม่ใช่ "โอกาส" ที่เหมาะสม แต่การบอกคำว่า "รัก" ในยามที่ผู้รับต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เขา "กำลังจะเป็นศพ" (เพราะขาดกำลังใจ) ถือว่าเป็น "โอกาส" ที่ควรฉวยคว้าไว้

ว่าแต่วันนี้ คุณฉวยโอกาสบอกคนที่คุณรักแล้วหรือยังว่า คุณรักเขา

อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป
โดยไม่ได้บอกคนที่คุณห่วงใยว่า คุณรักเขา

อ. ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
จากหนังสือ กำลังใจ ไม่ไกลเกินไขว่คว้า

"เพื่อดำเนินชีวิต และกระทำดี"

  • ถ้าท่านอ่านแล้ว มีความปรารถนาที่จะเชิญพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาในชีวิตของท่าน และเป็นพระเจ้าของท่าน กรุณาไปที่หน้า คำอธิษฐาน

  • ถ้าท่านอ่านแล้วสนใจ กรุณาติดต่อคริสตจักรใกล้บ้าน หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถอีเมลสอบถามได้ที่ ton@followhissteps.com