แนวคิดเกี่ยวกับยุคพันปี

"ใคร​ที่​มี​ส่วน​ใน​การ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ครั้ง​แรก​ก็​เป็น​สุข​และ​บริ​สุทธิ์
ความ​ตาย​ครั้ง​ที่​สอง​จะ​ไม่​มี​อำ​นาจ​เหนือ​เขา​ทั้ง​หลาย
แต่​เขา​จะ​เป็น​ปุโร​หิต​ของ​พระ​เจ้า​และ​ของ​พระ​คริสต์
และ​จะ​ครอบ​ครอง​ร่วม​กับ​พระ​องค์​หนึ่ง​พัน​ปี"
(วิวรณ์ 20:6)

ต่อไป อยากจะขอเกริ่นนำถึงแนวคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตนะครับ ว่ามีแนวคิดเช่นไรบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจแนวคิดที่ผมจะใช้ในการตีความพระคัมภีร์ต่อไป

ก่อนจะกล่าวในรายละเอียด ผมอยากขอเน้นย้ำว่าทุกแนวคิดต่างก็มาจากการตีความพระคัมภีร์ มีเหตุผลรองรับมากมายจากข้อพระคัมภีร์ และเห็นพ้องต้องกันว่าในที่สุดพระเยซูจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับผู้เชื่อไปอยู่กับพระองค์ตลอดไป ขออย่าให้ความคิดแตกต่างกันในเรื่องยุคพันปีมาทำให้เกิดการแบ่งแยกกันเลยนะครับ ผมจะมีแนวคิดแบบ pretribulational premillennialism แต่ผมก็ยังคงเคารพรักและติดตามฟังคำสอนอาจารย์หลายท่านที่ยกย่องพระคัมภีร์ว่าเป็นพระคำของพระเจ้า ถูกต้องแม่นยำ และมีสิทธิอำนาจ แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องนี้ เช่น ศจ. ดร. John Piper ผู้มีแนวคิดแบบ posttribulational premillennialism หรือ อ. เดวิด โรบินสัน (อดีตมิชชันนารีในประเทศไทย ผู้ก่อตั้งเครือข่ายคริสเตียนไทยในยูเค) ผู้มีแนวคิดแบบ amillennialism

ยุคพันปี ได้ถูกกล่าวไว้ในพระธรรมวิวรณ์ ถึงการที่ คริสเตียนจะได้ครอบครองร่วมกับพระเจ้าเป็นเวลาพันปี (millennium) ก่อนที่จะมีสงครามครั้งใหญ่ ซึ่งสงครามครั้งสุดท้ายนี้เองที่พระเจ้าจะมีชัยชนะเด็ดขาดเหนือพวกมารซาตาน และจะมีการพิพากษาครั้งใหญ่ เรียกว่า "การพิพากษาพระที่นั่งใหญ่สีขาว" ยุคพันปีนี้เอง ได้ทำให้เกิดแนวคิดหลากหลาย โดยมีแนวคิดหลักๆ 3 แนว ตามความสัมพันธ์ระหว่างการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์และยุคพันปี ได้แก่

  1. Postmillennialism (หลังพันปี) แนวคิดนี้เชื่อว่าจะมีอาณาจักรใหม่ในแผ่นดินโลกนี้ในอนาคต พันปีในที่นี้ไม่ได้แปลตรงตัวตามอักษร แต่เชื่อว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าหนึ่งพันปี แนวคิดนี้เสนอว่าการประกาศของคริสตจักรทำให้โลกกลับใจใหม่ เชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ และจะนำมาสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความชอบธรรม แนวคิดนี้จึงจะเชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางการประกาศข่าวประเสริฐ แนวคิดนี้ได้มีคนนิยมน้อยลงมากหลังจากที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งขัดกับแนวคิดที่ว่าโลกจะดีขึ้นเรื่อยๆ

  2. Amillennialism (ไม่มีพันปี) แนวคิดนี้ไม่ได้เชื่อว่าไม่มียุคพันปี เพียงแต่เสนอว่าไม่มียุคพันปีทางฝ่ายโลก โดยยุคพันปีในวิวรณ์ 20:6 นี้เป็นการสื่อความหมายแบบสัญลักษณ์ แนวคิดนี้เชื่อว่ามีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ยาวนาน คือยุคพันปีฝ่ายวิญญาณ (spiritual millennium) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกและครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ ดังนั้น ปัจจุบันก็อยู่ในยุคพันปีฝ่ายวิญญาณแล้วสำหรับแนวคิดนี้ และพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาหลังจากยุคพันปีนี้ แนวคิดนี้ไม่เชื่อว่าโลกนี้จะกลับใจทั้งหมดจากการประกาศของคริสตจักร

  3. Premillennialism (ก่อนพันปี) แนวคิดนี้เชื่อว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาก่อนยุคพันปีที่กล่าวถึงในพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งเป็นการตีความพระคัมภีร์แบบยึดตามตัวอักษร แนวคิดนี้เห็นว่าพระธรรมวิวรณ์ 19 อ้างถึงการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ ก่อนที่จะกล่าวถึงยุคพันปีในวิวรณ์บทที่ 20 แนวคิดนี้จะเชื่อว่า ประวัติศาสตร์โลกจะเริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตกต่ำที่สุดในช่วงความยากลำบากที่ยิ่งใหญ่ (Great Tribulation) แนวคิดนี้ยังแยกออกเป็นแนวประวัติศาสตร์ (historic premillennialism, เชื่อว่าพระสัญญาสำหรับอิสราเอลที่กล่าวถึงในพันธสัญญาเดิม เป็นการกล่าวถึงคริสตจักร) และแนวอนุรักษ์ (dispensational premillennialism, เชื่อว่าพระสัญญาที่กล่าวถึงอิสราเอล เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชนชาติอิสราเอลจริง ๆ)

หากเราแปลความพระคัมภีร์ตามตัวอักษร ทฤษฎี premillennialism จะสอดคล้องกับทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่อย่างลงตัว จึงดูเหมือนว่าน่าเชื่อถือที่สุด อย่างไรก็ตาม ทฤษฎี amillennialism ก็ยังสามารถอธิบายได้เช่นกัน หากแปลพระคัมภีร์แบบถอดความ โดยไม่ได้แปลตามตัวอักษร

(สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถรับฟังคำอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี่ครับ An Evening of Eschatology)

เมื่อกล่าวถึงการที่พระเยซูจะรับคริสตจักรไปจากโลกนี้ เพื่อไปอยู่ในสวรรค์ (rapture หรือ translation) ก็ได้มีแนวคิดต่างๆ ดังนี้

  1. Partial rapturism ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ไม่ใช่ผู้เชื่อทุกคนที่จะได้ถูกรับไป มีเพียงแค่ผู้ที่เฝ้ารอคอย ผู้ที่มีชีวิตฝ่ายวิญญาณที่ติดสนิทกับพระเจ้าเพียงพอเท่านั้น ที่จะถูกรับไป

  2. Posttribulational rapturism ทฤษฎีนี้กล่าวว่า หลังจากที่ภัยพิบัติทุกประการที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เกิดขึ้นจนครบแล้ว คริสตจักรจึงจะถูกรับไป ซึ่งเวลาที่ถูกรับไปก็เกิดขึ้นก่อนที่พระเยซูคริสต์เจ้าจะทรงเสด็จมายังโลกนี้เพื่อครอบครองยุคพันปี

  3. Midtribulational rapturism ทฤษฎีนี้ เป็นแนวคิดที่แยกออกมาจากทฤษฎี pretribulational view โดยแนวคิดแบบ midtribulational นี้ จะเชื่อว่าคริสตจักรจะได้รับการยกเว้นจากความยากลำบากในช่วง 3 ปีครึ่งสุดท้ายเท่านั้น แทนที่จะถูกละเว้นตลอด 7 ปี และการที่คริสตจักรถูกรับไปจะไม่เป็นไปอย่างหวุดหวิด คือสามารถคาดการณ์ได้ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ว่า ยุคเจ็ดปีสุดท้าย (สัปตะสุดท้าย) จะเริ่มต้นเมื่อมีการตกลงกัน ทำพันธสัญญากันระหว่าง ปฏิปักษ์ของพระคริสต์ (antichrist) และอิสราเอล

  4. Pre-wrath rapturism ทฤษฎีนี้มาจากแนวคิดที่แบ่งเหตุการณ์ในยุคเจ็ดปีสุดท้ายออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเริ่มต้น (มัทธิว 24:4-8 และตราดวงที่หนึ่ง ตรงกับช่วงครึ่งแรกของยุคเจ็ดปี), ช่วงความยากลำบากยิ่งใหญ่ (มัทธิว 24:21 และตราดวงที่สองถึงดวงที่ห้า คริสตจักรจะโดนรับไปหลังจากที่ตราดวงที่หกเริ่มขึ้น) และช่วงวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า (เกิดขึ้นหลังคริสตจักรโดนรับไป และภัยพิบัติต่าง ๆ ตั้งแต่ตราดวงที่เจ็ดก็จะดำเนินต่อไป) ดังนั้นคริสตจักรจะถูกรับไปในช่วงครึ่งหลังของยุคเจ็ดปี

  5. Pretribulational rapturism ทฤษฎีนี้เชื่อว่า การถูกรับไป และการฟื้นขึ้ันจากความตายของผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ จะเกิดขึ้นก่อนยุคความยากลำบากเจ็ดปี และการถูกรับไปของผู้เชื่อจะเป็นไปอย่างเฉียบพลัน ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะทรงรับไปเมื่อใด

เหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดแบบ pretribulational rapturism ได้แก่

  • เป็นการตีความหมายตามตัวอักษร เป็นแนวคิดที่ได้จากการตีความหมายตรงๆ จากพระสัญญาและคำพยากรณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม

  • ลักษณะของช่วงภัยพิบัติเจ็ดปีสุดท้าย พระคัมภีร์ได้มีการใช้คำต่างๆ ที่อ้างถึงช่วงระยะสุดท้ายของยุคว่า เป็นพระพิโรธหรือการลงโทษ เป็นช่วงแห่งความยากลำบาก เป็นช่วงการทำลาย และเป็นยุคมืด ซึ่งทำให้เราทราบได้ว่า ในช่วงภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ เป็นพระพิโรธของพระเจ้า และพระเยซูคริสต์เจ้าก็รับพระพิโรธของพระเจ้าแทนเราทั้งหลายไปแล้ว ดังนั้นพวกเราซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าจึงไม่ควรที่จะต้องรับพระพิโรธนี้แล้ว
    เพราะ​ว่า​พระ​เจ้า​ไม่​ได้​ทรง​กำ​หนด​เรา​ไว้​สำ​หรับ​พระ​พิโรธ แต่​สำ​หรับ​การ​รับ​ความ​รอด โดย​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ของ​เรา ผู้​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​เรา เพื่อ​ว่า​ถึง​จะ​ตื่น​อยู่​หรือ​จะ​หลับ เรา​จะ​ได้​มี​ชีวิต​กับ​พระ​องค์
    (1 เธสะโลนิกา 5:9-10)

  • ขอบเขตของยุคเจ็ดปีสุดท้าย ช่วงเจ็ดปีสุดท้ายเป็นช่วงที่กล่าวถึงสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เชื่อและชาวอิสราเอลเท่านั้น โดยมาจากการตีความหมายว่า ช่วงที่กล่าวถึงนั้นเป็นเวลาทุกข์ใจของชาวอิสราเอล (เวลาทุกข์ใจของยาโคบ ในเยเรมีย์ 30:7) เป็นเรื่องราวของชนชาติของดาเนียลและนครเยรูซาเล็ม (ชนชาติของท่านและนครบริสุทธิ์ของท่านในดาเนียล 9:24) ซึ่งคริสตจักรเพิ่งเริ่มขึ้นหลังจากวันเพ็นเทคอสต์และเป็นสิ่งที่ลึกลับมาก คริสตจักรทำให้ยิวและชาวต่างชาติไม่แตกต่างกัน ซึ่งในพระคัมภีร์เดิมยังไม่มีคริสตจักร ดังนั้นสิ่งที่พระคัมภีร์เดิมพูดถึง น่าจะหมายถึงชาวอิสราเอล
    "อนิจ​จา​เอ๋ย วัน​นั้น​ใหญ่​โต​เหลือ​เกิน
    ไม่​มี​วัน​ใด​เหมือน
    เป็น​เวลา​ทุกข์​ใจ​ของ​ยา​โคบ
    แต่​เขา​ก็​ยัง​จะ​รอด​วัน​นั้น​ไป​ได้"
    (เยเรมีย์ 30:7)
    "มี 70 สัป​ดาห์​แห่ง​ปี​กำ​หนด​ไว้​สำ​หรับ​ชน​ชาติ​ของ​ท่าน​และ​นคร​บริ​สุทธิ์​ของ​ท่าน เพื่อ​ให้​ยุติ​การ​ละ​เมิด ให้​บาป​จบ​สิ้น และ​ให้​ลบ​มล​ทิน เพื่อ​นำ​ความ​ชอบ​ธรรม​นิรันดร์​เข้า​มา เพื่อ​ประ​ทับ​ตรา​ทั้ง​นิมิต​และ​คำ​ของ​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​ไว้ และ​เพื่อ​จะ​เจิม​อภิ​สุทธิ​สถาน"
    (ดาเนียล 9:24)

  • วัตถุประสงค์ของยุคเจ็ดปีสุดท้าย วัตถุประสงค์ของช่วงเจ็ดปีสุดท้าย ได้แก่ เพื่อเป็นการทดลองใจ (วิวรณ์ 3:10) และเพื่อเป็นการเตรียมชนชาติอิสราเอลสำหรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ (มาลาคี 4:5-6) แต่ทว่าคริสตจักรที่แท้จริง บริสุทธิ์และปราศจากตำหนิอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะต้องถูกทดสอบอีก
    ส่วน​สามี​ก็​จง​รัก​ภรร​ยา​ของ​ตน เหมือน​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​คริสต​จักร และ​ประ​ทาน​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​คริสต​จักร เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​คริสต​จักร​บริ​สุทธิ์​โดย​การ​ชำระ​ด้วย​น้ำ​และ​พระ​วจนะ เพื่อ​พระ​องค์​จะ​ได้​คริสต​จักร​ที่​มี​ศักดิ์​ศรี ไม่​มี​ด่าง​พร้อย ริ้ว​รอย หรือ​มล​ทิน​ใดๆ เลย แต่​บริ​สุทธิ์​ปราศ​จาก​ตำ​หนิ
    (เอเฟซัส 5:25-27)

  • เอกภาพของความยากลำบากช่วงเจ็ดปีสุดท้าย เมื่อทำการศึกษาจะพบว่าตลอดเจ็ดปีของช่วงนี้มีลักษณะเดียวกัน จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คริสตจักรจะต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น

  • ลักษณะของคริสตจักร คริสตจักรที่แท้จริง ย่อมจะไม่จำเป็นต้องประสบกับพระพิโรธ แต่จะถูกรับขึ้นไป ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า คริสตจักรที่แท้จริงบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ (เอเฟซัส 5:25) สมบูรณ์แบบ และจะพ้นจากการพิพากษา ถ้าหากว่าคริสตจักรยังต้องประสบกับพระพิโรธและการพิพากษาของพระเจ้าอีก พระสัญญาของพระเจ้าก็จะไม่เกิดผล และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ก็ไม่สามารถช่วยเราได้
    เพราะ​ฉะ​นั้น​ไม่​มี​การ​ลง​โทษ​คน​ที่​อยู่​ใน​พระ​เยซู​คริสต์
    (โรม 8:1)
    เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​พวก​ท่าน​ว่า ถ้า​ใคร​ฟัง​คำ​ของ​เรา​และ​วาง​ใจ​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา คน​นั้น​ก็​มี​ชีวิต​นิรันดร์​และ​ไม่​ถูก​พิ​พาก​ษา แต่​ผ่าน​พ้น​ความ​ตาย​ไป​สู่​ชีวิต​แล้ว
    (ยอห์น 5:24)
    ความ​รัก​ของ​เรา​จึง​สม​บูรณ์​ใน​ข้อ​นี้ เพื่อ​เรา​จะ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​วัน​พิพาก​ษา เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​เป็น​เช่น​ไร เรา​ใน​โลก​นี้​ก็​เป็น​เช่น​นั้น
    (1 ยอห์น 4:17)

สรุปโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์

แหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม

John Fok Systematic Theology

An Evening of Eschatology:
http://www.desiringgod.org/messages/an-evening-of-eschatology

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น